Thursday, October 8, 2009

ภาษีน้ำอัดลม*

ในช่วงปลายปี ค.ศ. 2008 ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก นาย David Paterson ได้เสนอแผนจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่เต็มไปด้วยน้ำตาล (Sugary drink) และเครื่องดื่มน้ำอัดลมที่ไม่กันความอ้วน (Non-diet sodas) เพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นอัตราร้อยละ 18 โดยใช้หลักการของการจัดเก็บภาษีพิกูเวียน (Pigouvian tax) ที่ถูกตั้งชื่อตาม นาย Arthur C. Pigou นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ผู้เสนอแนวคิดของการจัดเก็บอัตราภาษีตามผลกระทบภายนอก (Externality) ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมของผู้บริโภคและผู้ผลิต

ตัวอย่างของภาษีพิกูเวียน ได้แก่ ภาษีสิ่งแวดล้อม ภาษีสุรา ภาษียาสูบ เป็นต้น การดื่มสุราหรือการบริโภคยาสูบ ไม่เพียงส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภคแล้ว แต่ยังส่งผลกระทบภายนอกที่นำไปสู่ปัญหาทางสังคมอื่นๆ ติดตามมาอีกมากมาย ต้นทุนทางสังคม (Social cost) ที่เกิดขึ้น ซึ่งรวมทั้งต้นทุนต่อผู้บริโภคและต่อบุคคลอื่นๆ จึงสูงกว่าต้นทุนของการบริโภค (Private cost) ที่ผู้บริโภคจ่ายเพื่อการบริโภค ดังนั้นการจัดเก็บภาษีจึงมีเป้าหมายเพื่อทำให้ต้นทุนของผู้บริโภคสอดคล้องหรือเท่ากับต้นทุนทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการบริโภคนั่นเอง

เช่นเดียวกัน วัตถุประสงค์ของการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กนำเสนอ คือ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของประชาชนให้ลดการบริโภคเครื่องดื่มเหล่านี้ลง ผ่านการทำงานของกลไกราคาที่ปรับสูงขึ้นจากภาษีที่จัดเก็บเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากเครื่องดื่มน้ำอัดลมและเครื่องดื่มที่เต็มไปด้วยน้ำตาล ถูกพบว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาโรคอ้วน (Obesity) ซึ่งได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน ที่รัฐบาลต้องรับภาระค่าใช้จ่ายและใช้งบประมาณทางด้านสาธารณสุขในการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนเป็นจำนวนมากในแต่ละปี

แผนปรับอัตราภาษีเครื่องดื่มในครั้งนี้ ได้ถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากบรรดาผู้ผลิตเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ทั้งหลายที่ย่อมได้รับผลลบโดยตรงจากมาตรการที่ถูกนำเสนอ อีกทั้งไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนที่ไม่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาริดรอนเสรีภาพในการบริโภคของตน จากรายงานการสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ ที่เป็นสมาชิกของสมาคมนักเศรษฐศาสตร์ของประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงปี ค.ศ. 2007 ของ Prof. Robert Whaples ที่พึ่งออกมาพบว่า นักเศรษฐศาสตร์กว่าร้อยละ 60 แสดงความไม่เห็นด้วย หากมีการจัดเก็บภาษีพิเศษกับอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพในประเทศสหรัฐอเมริกา

ถึงแม้ข้อเสนอในการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มน้ำอัดลมและเครื่องดื่มที่เต็มไปด้วยน้ำตาลของผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กในครั้งนี้จะไม่ประสบผลสำเร็จก็ตาม แต่ข้อเสนอนี้กลับได้รับความสนใจและถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก ที่แม้แต่ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา นายบารัค โอบามา (Barack Obama) ยังได้กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ Men’s Health Magazine เมื่อเดือนที่ผ่านมาว่า การจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มน้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่เต็มไปน้ำตาล เป็นแนวคิดที่น่าสนใจและน่าศึกษา โดยเฉพาะในช่วงที่สหรัฐอเมริกากำลังดำเนินการปฎิรูประบบสุขภาพของประเทศ (Health care reform) นอกจากนี้ นายบารัค โอบามา ยังได้กล่าวว่า เขาเข้าใจเป็นอย่างดีที่ข้อเสนอหรือแนวคิดดังกล่าว ไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนที่ไม่ต้องการให้ภาครัฐเข้าไปกำหนดพฤติกรรมในการบริโภค แต่ทั้งนี้ผลประโยชน์ที่ประเทศและสังคมโดยรวมจะได้รับ อาจคุ้มค่ากับการนำมาพิจารณาใช้ในอนาคตก็เป็นได้

ดังนั้นทิศทางของการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มน้ำอัดลมและเครื่องดื่มที่เต็มไปด้วยน้ำตาลในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีแนวโน้มที่จะจัดเก็บภาษีสินค้ากลุ่มนี้ในอัตราที่สูงขึ้น ตามลักษณะของสินค้าที่มีผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภคและต่อสังคมโดยรวม แต่ในขณะเดียวกัน กลับมีเหตุการณ์ที่สวนทางเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยมีบริษัทเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ ได้เข้ามาขอให้รัฐบาลไทยช่วยเหลือโดยการปรับลดภาษีสรรพาสามิตที่จัดเก็บเดิมในอัตราร้อยละ 20 ลงมา เพื่อแลกเปลี่ยนกับการลงทุนในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นปีละ 1,000 ล้านบาท รัฐบาลไทยควรพิจารณาอย่างรอบคอบ และที่สำคัญควรพิจารณาสินค้าเครื่องดื่มน้ำอัดลมในลักษณะของสินค้าที่มีผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่ในลักษณะของสินค้าฟุ่มเฟือย หรือแหล่งรายได้ภาษีที่สำคัญของรัฐ ดังเช่นที่เคยพิจารณากันมาในอดีต

อ้างอิง
Whaples, Robert (2009) “The Policy Views of American Economic Association Members: The Results of a New Survey,” Econ Journal Watch, Vol. 6, pp. 337-348.

*"ภาษีน้ำอัดลม" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 7 ต.ค. 2552

No comments:

Post a Comment