แม้ว่าฤดูร้อนจะพึ่งเริ่มต้นไปไม่นาน แต่ปัญหาภัยแล้งที่ปรากฎให้เห็นในปีนี้กลับรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาพลุ่มแม่น้ำโขงที่แห้งขอดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิถีชีวิตของประชาชนชาวไทย และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ที่มีการพึ่งพิงและผูกพันกับแม่น้ำโขงมาอย่างยาวนาน สาเหตุของการที่แม่น้ำโขงแห้งขอดในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเกิดจากปรากฎการณ์เอลนิโญ (El Nino) ที่ทำให้ปริมาณน้ำฝนมีน้อยกว่าปกติ อีกส่วนหนึ่งเชื่อว่าเกิดจากการที่ประเทศจีนได้สร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าและอ่างเก็บน้ำ 4 แห่งเกิดขึ้น ซึ่งทางจีนได้ออกมาปฎิเสธอย่างทันควันกับข้อกล่าวหาดังกล่าวและชี้แจงว่าตนไม่ใช่สาเหตุหลักอย่างแน่นอน แต่ไม่ว่าจะเป็นไปเพราะสาเหตุอะไรก็แล้วแต่ ปัญหาภัยแล้งในครั้งนี้ได้กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ในระดับภูมิภาค ที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต
การใช้น้ำของประเทศหรือผู้ใช้น้ำที่อยู่บริเวณต้นแหล่งน้ำ ย่อมส่งผลต่อทั้งปริมาณและคุณภาพของน้ำที่ไหลผ่านมายังประเทศหรือผู้ใช้น้ำที่อยู่ปลายแหล่งน้ำอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยปัญหาน้ำแล้งจะรุนแรงในช่วงฤดูแล้งที่ปริมาณน้ำมีไม่เพียงพอต่อปริมาณความต้องการใช้ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้ใช้น้ำที่อยู่ต้นแหล่งน้ำกับผู้ใช้ที่อยู่ปลายแหล่งน้ำ หรือบางคนนิยามว่า “Water war” (สงครามแย่งชิงการใช้แหล่งน้ำ) โดยปัญหาความขัดแย้งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในระดับภายในประเทศหรือในระดับภูมิภาค
ปัญหาความขัดแย้งในเรื่องการใช้น้ำไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นมาโดยตลอดนับตั้งแต่ 3,000 ปีก่อนยุคคริสต์ศักราชจนถึงปัจจุบัน(1)และบางครั้งได้นำไปสู่เหตุการณ์รุนแรงอย่างเช่น สงคราม แต่ส่วนใหญ่ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยวิธีการเจรจา หรือความร่วมมือที่นำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เช่น การมีข้อตกลงร่วมว่าด้วยการใช้น้ำ (Water treaties) เป็นต้น
ผู้เขียนเองก็เคยมีส่วนร่วมในโครงการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ โดยในช่วงฤดูแล้ง ปริมาณน้ำตามแม่น้ำสาย Apalachicola-Chattahoochee-Flint ที่เชื่อมต่อในสามมลรัฐ Alabama Florida และ Georgia ของประเทศสหรัฐอเมริกา มีไม่เพียงพอต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำ ลักษณะของปัญหาจึงมีลักษณะคล้ายคลึงกับปัญหาของการใช้แหล่งน้ำที่เกิดขึ้นในที่อื่นๆ (ซึ่งอาจรวมไปถึงในกรณีแม่น้ำโขง) ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านจากต้นน้ำของแม่น้ำ Alapachicola แม่น้ำ Chattaoochee และแม่น้ำ Flint ก่อนไหลออกไปยังอ่าวเม็กซิโก มีปริมาณไม่เพียงพอต่อประชาชน และชาวเกษตรกร ที่อยู่ปลายน้ำที่ต้องการน้ำไปใช้เพื่อการบริโภคและการเกษตรกรรม ซึ่งแน่นอนประชากรที่อยู่ต้นน้ำย่อมไม่ประสบปัญหาเพราะสามารถดึงหรือทดน้ำเข้าไปใช้ในพื้นที่เพาะปลูกของตนได้โดยง่าย ปัญหานี้ได้เกิดขึ้นมาอย่างยืดเยื้อและยาวนานนับสิบๆ ปี ซึ่งรัฐบาลในมลรัฐต่างๆ รวมถึงหน่วยงานของรัฐบาลกลาง ได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้มาโดยตลอด
การใช้น้ำของประชาชนและชาวเกษตกรที่อยู่ใกล้ต้นแหล่งน้ำ ย่อมเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ การแก้ไขปัญหาที่ดีจึงไม่ควรเป็นการริดรอนสิทธิของประชาชนที่อยู่ใกล้ต้นน้ำ หนึ่งในวิธีการแก้ไขปัญหาที่ใช้หลักการและเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่มลรัฐ Georgia ภายใต้การนำของผู้ว่าการรัฐ Roy Barnes ในขณะนั้นได้ดำเนินการ โดยในปี ค.ศ. 2000 ได้มีการออกกฎหมายฉบับหนึ่งที่ชื่อว่า Flint River Drought Protection Act ที่มีสาระสำคัญคือ ณ วันที่ 1 มีนาคม ของทุกปี หน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแล จะประกาศล่วงหน้าว่าปีนั้นเป็นปีที่ประสบปัญหาภัยแล้งหรือไม่ ถ้าหากเป็นปีที่ประกาศว่าประสบภัยแล้ง ภาครัฐก็จะดำเนินการจัดการซื้อสิทธิการใช้แหล่งน้ำของชาวเกษตรกรในปีนั้น โดยวิธีการประมูลจากประชาชนหรือชาวเกษตรกรที่มีความประสงค์จะขายสิทธิการใช้น้ำ
ภาครัฐจะเป็นผู้กำหนดขนาดพื้นที่การเกษตรที่ต้องการซื้อสิทธิการใช้น้ำจากชาวเกษตรกร รวมถึงเป็นผู้ซื้อและจ่ายเงินแก่ชาวเกษตรกรที่ได้ตกลงขายสิทธิการใช้น้ำ ซึ่งชาวเกษตรกรเหล่านี้จะไม่มีสิทธิในการนำน้ำจากแหล่งน้ำไปใช้เพื่อการเพาะปลูกในปีนั้น สำหรับการกำหนดราคาขายสิทธิการใช้น้ำนั้น ได้ใช้วิธีการประมูลเพื่อให้ราคาถูกกำหนดโดยระบบกลไกตลาด ซึ่งจะเป็นราคาที่ยุติธรรมและมีประสิทธิภาพ โดยเกษตรกรจะเป็นผู้เสนอปริมาณพื้นที่ที่ต้องการจะขายและราคาที่ต้องการขายสิทธิการใช้น้ำในปีนั้น ในปี ค.ศ. 2001 มลรัฐ Georgia ได้ใช้งบประมาณในการเข้าไปซื้อสิทธิการใช้น้ำจากชาวเกษตกรรวมเป็นมูลค่า 10 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเงินที่ใช้ในส่วนนี้ได้มาจากค่าชดเชยแก่ชาวเกษตกรในการใช้แหล่งน้ำที่ได้รับจากอุตสาหกรรมยาสูปที่อยู่ปลายแหล่งน้ำ ซึ่งมีความต้องการใช้น้ำในการเพาะปลูกเป็นปริมาณมาก
การซื้อสิทธิการใช้น้ำจากชาวเกษตรกร เป็นหนึ่งในวิธีการแก้ไขปัญหาที่ใช้หลักการและเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่มีความน่าสนใจและถูกนำมาใช้จริงในหลายๆ ประเทศ ถึงแม้ว่าการนำวิธีการนี้มาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาแม่น้ำโขงแห้งขอดที่เกิดขึ้นในขณะนี้ อาจยังไม่เป็นที่กล่าวถึงหรือเกิดขึ้นได้ยาก แต่หากนำมาเปรียบเทียบกับวิธีการแก้ไขปัญหาอื่นๆ ที่อาจเป็นได้ เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติม การสร้างเขื่อน (จะเกิดอะไรขึ้น หากทุกประเทศคิดและทำในลักษณะเดียวกัน?) เป็นต้น แนวทางการซื้อสิทธิการใช้น้ำโดยตรงจากชาวเกษตรกร จะมีต้นทุนในการดำเนินการที่ต่ำกว่าและสามารถช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนได้อย่างตรงจุด ซึ่งคงเป็นเรื่องดีถ้าหากมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ เช่น คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission, MRC) จะสนใจศึกษาถึงความเป็นไปได้ของการนำวิธีการนี้มาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้งอย่างจริงจังต่อไปในอนาคต
อ้างอิง
(1) ลำดับเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำที่มีมานับแต่อดีต สามารถดูได้จาก www.worldwater.org
*"ปัญหาแม่น้ำโขงแห้งขอด กับแนวทางแก้ไขปัญหาในต่างแดน" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 5 เม.ย. 2553
No comments:
Post a Comment