Thursday, August 23, 2007

อย่าคิดแค่ว่า เวียดนามคือคู่แข่งของไทย*

หากขับรถไปตามท้องถนน ผู้อ่านอาจเคยสังเกตเห็นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ที่เขียนว่า “เวียดนามเริ่มตั้งไข่เมื่อวาน… วันนี้เขากำลังจะวิ่งแซงเรา” จริงๆแล้วไม่ว่าเป้าหมายของการลงโฆษณาจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ เราคงต้องยอมรับว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่แสดงถึงความกังวลของคนไทยจำนวนไม่น้อยที่มีต่อภาคอุตสาหกรรมไทย

ความกังวลดังกล่าว ถูกยืนยันด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงงานผลิตรองเท้าขนาดใหญ่ของเท้า เช่น บ.ไทยศิลป์อาคเนย์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด หรือ บริษัท ยูเนี่ยนฟุทแวร์ จำกัด ที่เพิ่งปิดกิจการลงไป ยิ่งไปกว่านั้น เหตุการณ์ที่ค่าเงินบาทผันผวนอย่างรุนแรง เม็ดเงินลงทุนที่ไหลเข้าและไหลออกอย่างรวดเร็ว ยิ่งตอกย้ำและเพิ่มความกังวลที่มีต่ออุตสาหกรรมไทย ว่าจะสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นของไทย ที่กำลังประสบปัญหาอย่างรุนแรงในการแข่งขันกับประเทศต่างๆ เช่น ประเทศเวียดนาม ที่มีต้นทุนค่าแรงงานต่ำกว่าประเทศไทยในเวลานี้

จากข้อมูลในปี 2549 ที่ผ่านมาพบว่า เวียดนามได้รับการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ทั้งสิ้น 10.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ถึงร้อยละ 92.5 ในขณะเดียวกันประเทศไทยได้รับการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศทั้งสิ้น 9.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 26 ซึ่งนับว่าเป็นปีแรก ที่เม็ดเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศไปยังเวียดนามมีมากกว่าประเทศไทย แต่ทั้งนี้ หากมองให้ดีแล้ว แม้ว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนทางตรงไปยังเวียดนามเป็นจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันเม็ดเงินลงทุนที่มายังประเทศไทยก็ยังมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้ลดน้อยลงจากเดิมแต่อย่างใด
 
จากข้อมูลและเหตุการณ์ต่างๆ ที่กล่าวไว้ข้างต้น ทำให้เกิดความเชื่อว่า เวียดนามในปัจจุบันคือคู่แข่งของไทยไปแล้ว ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ประเทศไทยควรเป็นกังวลจริงๆหรือไม่กับการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของประเทศเวียดนาม รวมถึงแนวทางที่อุตสาหกรรมไทยจะใช้ในการปรับตัวควรเป็นอย่างไร

ภายใต้โลกาภิวัฒน์ (Globalization) ที่พรมแดนระหว่างประเทศเริ่มหายไป การติดต่อสื่อสาร การเดินทาง หรือ การเคลื่อนย้ายการลงทุนเป็นเรื่องง่ายดาย เวียดนามซึ่งมีจุดแข็งในเรื่องของค่าแรงงานถูก อีกทั้งการเมืองมีเสถียรภาพมั่นคง และมีแนวนโยบายที่ชัดเจนในการพัฒนาประเทศแบบทุนนิยม ล้วนเป็นจุดเด่นของเวียดนาม ที่ทำให้นักลงทุนจากต่างประเทศสนใจไปลงทุนในเวียดนามเป็นจำนวนมาก แต่ถึงกระนั้นเวียดนามเองก็ใช่ว่าจะสมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง หากเปรียบเทียบกับประเทศไทยแล้ว ประเทศไทยมีแรงงานที่มีฝีมือมากกว่า มีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดีกว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นจุดแข็งที่สำคัญของประเทศไทย
 
หากจะพิจารณาแต่ปัจจัยค่าแรงงานแต่เพียงอย่างเดียว แม้ว่าในโลกใบนี้จะไม่มีเวียดนามอยู่ ก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศผู้ลงทุนจะมาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น เพราะคงมีประเทศอื่นๆ ที่มีค่าแรงงานต่ำกว่าประเทศไทย และนักลงทุนจากต่างประเทศสนใจที่จะเคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปยังประเทศเหล่านั้นอยู่อีกเป็นจำนวนมาก

ดังนั้นหากเราคิดว่าเวียดนามเป็นคู่แข่งของไทย นั่นก็หมายความว่า เรากำลังคิดแข่งขันกับเวียดนามในเรื่องของค่าแรงงานถูก ซึ่งถ้าคิดอย่างนี้ เราคงไม่มีทางที่จะเดินไปข้างหน้าหรือจะสู้กับเวียดนามได้ เพราะในปัจจุบันค่าแรงงานไทยไม่ใช่จุดแข็งที่ทำให้นักลงทุนอยากมาลงทุนในประเทศไทยอีกต่อไปแล้ว
 
กรณีที่เกิดขึ้นกับการปิดกิจการโรงงานรองเท้าที่ผ่านมา ที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงจากประเทศอื่นๆ มีประเด็นที่น่าสนใจ คือเพราะเหตุใด บริษัทเหล่านั้น จึงไม่พัฒนาให้สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง อย่างเช่น การคิดค้นสร้างผลิตภัณฑ์ หรือสร้างแบรนด์สินค้าของตนขึ้นเอง แทนที่จะผลิตตามออร์เดอร์ที่ได้รับแต่เพียงอย่างเดียว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นงเหล่านี้ ชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมที่เป็นแต่เพียงผู้รับจ้างผลิต กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากในโลกที่มีการแข่งขันสูงในปัจจุบัน ซึ่งเราอาจเห็นโรงงานต่างๆ ทะยอยปิดกิจการกันอีกมากในอนาคตอันใกล้

อุตสาหกรรมไทยควรปรับตัวให้สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง การเติบโตขึ้นของเวียดนามเป็นโอกาสที่ดีของอุตสาหกรรมไทยที่จะใช้ประโยชน์จากการที่เวียดนามมีต้นทุนค่าแรงที่ถูก มีทรัพยากรอยู่เป็นจำนวนมาก และอยู่ใกล้กับประเทศไทย มาใช้ในการขยายฐานการผลิต โดยทรัพยากรใดที่เขามี แต่เราไม่มี หรือมีแต่แพงกว่า เราควรจะใช้เขาให้เป็นฐานการผลิต ในขณะเดียวกันอุตสาหกรรมไทย ควรหันไปผลิตสินค้าที่ต้องการใช้แรงงานฝีมือมากขึ้นการกำหนดจุดยืนของอุตสาหกรรมไทยให้เดินไปข้างหน้า เช่นเดียวกับที่ประเทศพัฒนาแล้วเขาคิดกัน จึงเป็นสิ่งสำคัญ ประเทศไทยไม่ควรเดินถอยหลังกลับไป แข่งขันกับเวียดนามในเรื่องค่าแรงงานถูกอีกต่อไปแล้ว นอกจากนี้อุตสาหกรรมไทยยังควรใช้ประโยชน์จากโลกาภิวัฒน์ ดังที่เราเห็นบริษัทใหญ่ๆที่ประสบผลสำเร็จของไทยในวันนี้ ได้เริ่มหันไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นในปัจจุบัน

* "อย่าคิดแค่ว่า เวียดนามคือคู่แข่งของไทย" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 23 ส.ค. 2550