Thursday, November 22, 2007

ทฤษฏีเกมส์กับการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน*

ในบทความทันเศรษฐกิจหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้เล่าถึงสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น รวมถึงพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ที่ปัจจุบันมีประเทศกว่า 175 ประเทศทั่วโลกได้ลงนามให้สัตยาบันรับรอง ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือระดับประเทศในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลง

แต่ทั้งนี้ความร่วมมือระดับประเทศดังกล่าว คงไม่อาจแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนให้หมดลงได้ เนื่องจากนโยบายสาธารณะรัฐต่างๆที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการลดหรือจำกัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาในแต่ละประเทศ เช่น Carbon tax หรือ การเก็บภาษีตามปริมาณคาร์บอนที่ถูกปล่อยออกมา มักจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในประเทศ ตัวอย่างเช่น หากรัฐดำเนินการเพิ่มภาษีสินค้าน้ำมันหรือรถยนต์ให้สูงขึ้นจากเดิม เพื่อลดปริมาณการบริโภคน้ำมันและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์ลง ประชาชนผู้ใช้รถยนต์ส่วนใหญ่ในประเทศคงไม่เห็นด้วยแน่ เพราะต้องจ่ายค่าน้ำมันแพงขึ้นไปอีก จากที่ปัจจุบันแทบจะจ่ายกันไม่ไหวอยู่แล้ว สุดท้ายก็คงจะผลักความรับผิดชอบไปยังผู้ผลิตสินค้าแทน

ในกรณีที่ภาระทางภาษีคาร์บอนถูกผลักไปยังผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ภาษีเหล่านี้จะเพิ่มต้นทุนของการผลิตสินค้าให้สูงขึ้น จากการที่ผู้ผลิตต้องเพิ่มการลงทุนในการควบคุมปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาให้เป็นไปตามที่เป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งแน่นอนว่า ต้นทุนที่ปรับสูงขึ้นมานี้ จะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในตลาดโลก และสุดท้ายภาระทางภาษีก็จะถูกผลักมายังผู้บริโภคสินค้าในประเทศ ผ่านทางราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นอยู่ดี

ดังนั้นคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่นโยบายสาธารณะที่ใช้ในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจะได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชนและภาคธุรกิจต่างๆในประเทศ จึงไม่น่าแปลกใจที่็น็เราจะสังเกตได้ว่า แม้นปัจจุบันสังคมไทยได้ตระหนักถึงปัญหาสภาวะโลกร้อนมากขึ้น แต่กลับไม่มีพรรคการเมืองใด ที่จะกล้านำเสนอหรือชูนโยบายในการแก้ไขสภาวะโลกร้อนเป็นนโยบายนำของพรรค (แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา) แต่กลับมุ่งนำเสนอนโยบายประชานิยม ที่ให้ประโยชน์โดยตรงแก่ประชาชนเป็นสำคัญ เพราะนโยบายประชานิยมเหล่านี้ง่ายที่จะได้รับการสนุนจากประชาชนนั่นเอง

นอกจากปัญหาในแง่ของการใช้นโยบายสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนในประเทศแล้ว ยังมีปัญหาใหญ่ที่สำคัญอีกปัญหาหนึ่ง ที่ทำให้การแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนในระดับประเทศไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควร ปัญหาที่ว่านี้คือ ปัญหาที่เกิดจากความไม่ร่วมมือกันของทุกประเทศ ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น หรือดำเนินการปรับลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลงนั่นเอง

หากมีเพียงไม่กี่ประเทศที่ดำเนินการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลง ก็ไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นได้ อย่างดีที่สุดอาจสามารถบรรเทาหรือชะลอปัญหาลงได้บางส่วน แต่ทั้งนี้ประเทศที่ไม่ได้ดำเนินการปรับลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลง (ด้วยเหตุผลส่วนหนึ่ง ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น) ก็จะได้รับประโยชน์จากการดำเนินการของประเทศอื่นๆ โดยที่ไม่ต้องลงมือทำเอง ในทางเศรษฐศาสตร์เรากล่าวถึง คนที่รอผลประโยชน์จากการกระทำของคนอื่นโดยที่ตัวเองไม่ลงมือทำว่า “Free Rider”

แต่ถ้าหากประเทศส่วนใหญ่ทำตัวเป็น Free Rider โดยรอคอยผลประโยชน์ที่เกิดจากการดำเนินการของคนอื่น สุดท้ายก็คงไม่มีประเทศใดที่จะยอมดำเนินการในการปรับลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกของตนลง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ ทุกประเทศจะต้องเผชิญกับปัญหาสภาวะโลกร้อนที่รุนแรงกว่า ในกรณีที่ประเทศต่างๆ ร่วมมือกันดำเนินการ หรืออย่างน้องมีบางประเทศดำเนินการปรับลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลง

สิ่งที่น่าสนใจในเวลานี้คือ ประเทศพัฒนาแล้วที่ทำตัวเป็น Free Rider กลับเป็นประเทศพี่ใหญ่ของโลก อย่าง สหรัฐอเมริกา ทั้งๆที่สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งถ้าหากปราศจากการร่วมมือของสหรัฐอเมริกา คงเป็นการยากที่จะทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกบนชั้นบรรยากาศโลกจะลดลงจากเดิมได้อย่างมีนัยสำคัญ



ในทางเศรษฐศาสตร์ ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในลักษณะที่ประเทศต่างๆ สามารถเลือกที่จะดำเนินการหรือไม่ดำเนินการเป็นรูปแบบหนึ่งของ Prisoners’ Dilemma ในทฤษฎีเกมส์ (Game Theory) ซึ่งผู้อ่านบางท่านอาจจะพอจำได้จากหนังเรื่อง “A Beautiful Mind” ซึ่งเป็นหนังชีวประวัติของ John Nash นักเศรษฐศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ได้รับรางวัลโนเบิลนั่นเอง

ปัญหาสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นนี้ มีความแตกต่างจากปัญหาพื้นฐานของ Prisoners’ Dilemma อยู่ประการหนึ่งคือ ในปัญหา Prisoners’ Dilemma ผู้ต้องหาแต่ละคนไม่ทราบว่า ผู้ต้องหาอีกคนจะสารภาพผิดต่อตำรวจหรือไม่ หากต่างไม่สารภาพ ผู้ต้องหาทั้งคู่ก็จะพ้นข้อกล่าวหา แต่หากมีคนใดคนหนึ่งยอมรับสารภาพผิด ในขณะที่อีกคนไม่ยอมรับสารภาพ คนที่ไม่สารภาพผิดก็จะถูกลงโทษอย่างรุนแรง กว่าในกรณีที่ผู้ต้องหาทั้งสองคนยอมรับสารภาพผิดตั้งแต่แรก

ในกรณีของความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อน ประเทศต่างๆ มีทางเลือกที่จะดำเนินการปรับลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกหรือไม่ ทุกประเทศต่างทราบดีว่า ประเทศใดบ้างที่ดำเนินการ หรือไม่ดำเนินการ ตรงนี้คือความแตกต่างที่สำคัญกับปัญหา Prisoners’ Dilemma ที่กล่าวแล้วข้างต้น

ทางออกที่จะทำให้ทุกประเทศมีพันธะร่วมกันดำเนินการปรับลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลงได้นั้น คงไม่เพียงพอแน่ที่จะรอให้แต่ละประเทศยินดีที่จะดำเนินการด้วยตนเอง เนื่องจากทุกประเทศอยากที่จะทำตัวเป็น Free Rider ดังนั้นวิธีการที่จะทำให้ทุกประเทศร่วมมือกันได้นั้น จะต้องเกิดจากแรงบีบจากภายนอก เพื่อบังคับไม่ให้ประพฤติตัวเป็น Free Rider ได้ ซึ่งจุดนี้เป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้ความร่วมมือกันระดับประเทศประสบผลสำเร็จประเทศฝรั่งเศษได้เสนอให้สหภาพยุโรป (EU) เก็บภาษีคาร์บอนแก่สินค้าอุตสาหกรรมที่นำเข้ามาจากประเทศ (พัฒนาแล้ว) ที่ไม่ยอมมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกลง ตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าติดตาม ถึงการตัดสินใจของสหภาพยุโรป และจุดยืนของสหรัฐอเมริกาที่จะมีต่อไปในอนาคต ภายใต้แรงบีบคั้นจากประเทศพัฒนาอื่นๆทั่วโลกที่เกิดขึ้น

* "ทฤษฏีเกมส์กับการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 22 พ.ย. 2550

Thursday, November 8, 2007

พิธีสารเกียวโตกับการแก้ปัญหาโลกร้อน*

สัปดาห์นี้นับเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกันแล้ว ที่คณะผู้เขียนได้นำเสนอเรื่องสภาวะโลกร้อนอย่างต่อเนื่อง แม้นว่าในปัจจุบัน เรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ฤดูหนาว หรือช่วงปลายฝนต้นหนาว จนทำให้เราอาจลืมนึกถึงความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาไปบ้างก็ตาม แต่คงอีกไม่นานเกินรอ อากาศร้อนคงกลับมาให้เราหายคิดถึงอย่างแน่นอน

บทความในสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มก๊าซเรือนกระจกกับความร้อนที่เกิดขึ้น โดยกลุ่มก๊าซเรือนกระจกอย่างเช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำหน้าที่ห่อหุ้มความร้อน ไม่ให้ความร้อนสะท้อนออกไปจากโลกได้ทั้งหมด ดังนั้นหากปริมาณก๊าซเรือนกระจกสะสมบนชั้นบรรยากาศโลกเพิ่มมากขึ้น ความร้อนบนโลกก็จะเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

ผู้อ่านหลายท่านอาจสงสัยว่า ทำไมปัญหาโลกร้อนถึงเป็นปัญหาที่โลกกำลังเผชิญในช่วงทศวรรษหลังนี้ แต่ทำไมก่อนหน้านี้เป็นร้อยๆปี ปัญหาโลกร้อนจึงไม่เกิดขึ้นอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ คำตอบของปัญหานี้คงไม่ยาก หากพิจารณาถึงแผนภาพแสดงปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมาในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกปล่อยออกมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 5 ทศวรรษหลัง ซึ่งปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมานั้น เกิดขึ้นสูงสุดจากการใช้พลังงานปิโตรเลียม ได้แก่น้ำมันดิบ โดยทั้งนี้ทั้ง น้ำมันดิบ ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ล้วนแล้วต่างเป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่ใช้ในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจต่างๆของโลก เช่น ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ให้เติบโตขึ้น การเผาพลาญทรัพยากรพลังงานเชื้อเพลิงเหล่านี้ต่างก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกบนพื้นผิวโลกนั่นเอง

สิ่งที่น่าสนใจคือ ประเทศที่เป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากที่สุดในโลกไม่ใช่ใครอื่น แต่กลับกลายเป็นประเทศพี่ใหญ่ของโลก นั่นคือประเทศสหรัฐอเมริกา และคานาดา รองลงมาได้แก่กลุ่มประเทศยุโรป และกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกอย่างเช่น จีน สำหรับประเทศอินเดีย และกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รวมถึงไทย) ก็มีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกันกับประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆ

จริงๆแล้วประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด ได้มีการประชุมเพื่อหารือในการกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในความตกลงร่วมกันที่เป็นรูปธรรม คือ พิธีสารเกียวโต (Kyoto protocol) ที่เปิดให้ลงนามนับตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2540 โดยเกิดจากการเจรจาร่วมกันที่เมือง Kyoto ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งพิธีสารดังกล่าวมีบทบัญญัติให้เริ่มมีผลบังคับใช้ภายใน 90 วัน หลังจากมีประเทศร่วมให้สัตยาบันรับรองอย่างน้อย 55 ประเทศ ซึ่งจะต้องมีประเทศที่พัฒนาแล้วที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมารวมกันอย่างน้อยร้อยละ 55 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นบนโลก
ปัจจุบันได้มีประเทศต่างๆกว่า 175 ประเทศได้ลงนามให้สัตยาบันรับรองพิธีสารดังกล่าว และได้เริ่มมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2548 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ในพิธีสารได้กำหนดให้ประเทศที่พัฒนาแล้ว 36 ประเทศ ในช่วงระหว่างปี 2551 ถึง 2555 จะต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลงอย่างน้อยร้อยละ 5 ของปริมาณก๊าซที่ถูกปล่อยรวมทั้งสิ้นในปี 2533

แต่ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเทศพี่ใหญ่ของโลกอย่างประเทศสหรัฐอเมริกากลับแสดงความตั้งใจที่จะเพิกเฉยกต่อข้อตกลงร่วมดังกล่าว ทั้งที่สหรัฐอเมริกาเองเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับหนึ่งของโลก หากปราศจากความร่วมมือของประเทศสหรัฐอเมริกาที่จะลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างจริงจังแล้ว คงเป็นการยากที่เป้าหมายที่กำหนดดังกล่าวที่จะบรรเทาปัญหาโลกร้อน จะสำเร็จลุล่วงไปได้อย่างที่คาดหวังไว้

สำหรับในบทความถัดไป ผู้เขียนจะนำเสนอนโยบายสาธารณะ (Public policies) ต่างๆ ที่นักเศรษฐศาสตร์นำเสนอเพื่อใช้เป็นเครื่องมือนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมา เพื่อแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น อย่าลืมติดตามครับ

* "พิธีสารเกียวโตกับการแก้ปัญหาโลกร้อน" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 8 พ.ย. 2550

Thursday, September 27, 2007

สภาวะโลกร้อน (Global warming)*

สภาวะโลกร้อนนับเป็นปัญหาสำคัญที่โลกกำลังเผชิญอยู่ และได้รับการพูดถึงอย่างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผู้เขียนพึ่งมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์กึ่งสารคดีเรื่อง An Inconvenient Truth ที่ออกมาเมื่อปีที่แล้ว โดยมีอดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ นาย อัล กอร์ (Al Gore) เป็นผู้นำเสนอเรื่องราวสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น ในความคิดของผู้เขียนแล้ว สารคดีเรื่องนี้เป็นสารคดีที่มีประโยชน์และคุ้มค่าต่อการชมเป็นอย่างมาก และอยากแนะนำให้ผู้อ่านได้หามาชมกันครับ

นาย อัล กอร์ ผู้อ่านส่วนใหญ่คงจำกันได้ว่า เขาผู้นี้เป็นผู้อาภัพโชคในการชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐกับ George W. Bush แต่ถึงกระนั้น ด้วยสปริตที่สูงส่งของนักการเมืองสหรัฐผู้นี้ ทำให้เขายอมรับผลการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยข้อสงสัยต่างๆและไม่เป็นธรรมต่อคนสหรัฐสักเท่าไหร่นัก ภายหลังการเลือกตั้งผ่านพ้นไป นาย อัล กอร์ ได้หันกลับมาทำงานรณรงค์ในเรื่องปัญหาสภาวะโลกร้อน ให้โลกหันมาให้ความสนใจและหาแนวทางการแก้ไขอย่างจริงจัง ทั้งภายในประเทศสหรัฐเองและประเทศอื่นๆทั่วโลก

ผู้เขียนได้ลองค้นหาคำว่า Global warming ในอินเทอร์เน็ด และพบว่ามีเว็ปไซด์ที่เกี่ยวข้องถึงกว่า 78.3 ล้านเว็ป แต่เมื่อลองดูว่ามีจำนวนเว็ปไซด์ที่เกิดขึ้นภายในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา หรือนับตั้งแต่สารคดีเรื่อง An Inconvenient Truth ได้ออกมาในปีที่แล้ว พบว่ามีมากถึง 44.5 ล้านเว็ปไซด์ หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 56 ของเว็ปไซด์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ดังนั้นจึงไม่อาจจะปฎิเสธได้ว่านาย อัล กอร์ และสารคดีดังกล่าว มีส่วนสำคัญที่ทำให้โลกตื่นขึ้นมาและหันมาสนใจปัญหาโลกร้อนกันมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา

สำหรับบทความวันนี้ ผู้เขียนขอเริ่มต้นจากการเกริ่นนำถึงที่มาของสภาวะโลกร้อนก่อน สภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นเมื่อคลื่นพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์ตกกระทบบนพื้นผิวโลก ซึ่งโดยปกติแล้วคลื่นความร้อนส่วนใหญ่จะไม่ได้ถูกดูดซับไว้บนพื้นโลกไปนี้ แต่คลื่นความร้อนจะถูกสะท้อนกลับออกไปยังนอกบรรยากาศโลก ซึ่งถ้าหากคลื่นความร้อนถูกสะท้อนกลับออกไปนอกโลกทั้งหมด ก็คงไม่ใช่สิ่งดี เพราะโลกคงมีสภาพไม่ต่างจากธารน้ำแข็งที่หนาวเย็นและยากต่อการดำรงชีวิตอยู่ได้

เพื่อให้โลกสามารถสะสมความร้อนที่ตกลงมาได้บางส่วน ที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตอยู่ได้ โลกจึงได้สร้างกลไกทางธรรมชาติไว้คือ กลุ่มแก๊สเรือนกระจก (Greenhouse gas) ซึ่งหนึ่งในแก๊สเรือนกระจกที่สำคัญคือ แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาพลาญเชิงเพลิงของมนุษย์ ทั้งนี้กลุ่มแก๊สเรือนกระจก (Greenhouse gas) จะก่อให้เกิดปรากฎการณ์เรือนกระจก (Greenhouse effect) ที่ช่วยกั้นความร้อนที่สะท้อนจากพื้นผิวโลกไม่ให้สะท้อนกลับออกไปนอกบรรยากาศโลกทั้งหมด และช่วยสะสมพลังงานความร้อนไว้ หากเปรียบแล้วเรือนกระจกที่เกิดขึ้นเปรียบเสมือนกับผ้าห่มที่ห่อหุ้มและให้ความอบอุ่นแก่ผิวโลก ซึ่งหากกลุ่มแก๊สเรือนกระจกอยู่ในระดับที่เหมาะสม โลกก็จะมีสภาวะอากาศเหมาะสมแก่การดำรงอาศัยของสิ่งมีชีวิต ตัวอย่างเช่น หากปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่บนชั้นบรรยากาศโลกอยู่ในระดับ 380 ppm (parts per million) อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกจะอยู่ที่ 15 C แต่ถ้าปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ในระดับที่สูงขึ้น อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกก็จะปรับสูงขึ้นตาม

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือ ในช่วงไม่กี่สิบที่ผ่านมา โลกภายใต้น้ำมือของมนุษย์ได้กำลังทำให้สมดุลทางธรรมชาติที่เคยดำรงไว้นับล้านปีสูญเสียไป โดยมนุษย์ได้ปลดปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงต่างๆ ออกไปสู่บรรยากาศโลกอย่างมาก จนทำให้กลุ่มแก๊สเรือนกระจกที่อยู่บนชั้นบรรยากาศโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อโลกไม่สามารถระบายหรือสะท้อนคลื่นพลังงานความร้อนที่ได้จากดวงอาทิตย์ออกไปได้ เนื่องจากชั้นเรือนกระจกที่หนาขึ้น ความร้อนจึงถูกดูดซับไว้บนพื้นผิวโลก และส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งตรงนี้เป็นสาเหตให้เกิดสภาวะโลกร้อนขึ้นมาในปัจจุบัน

การที่อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น ไม่เพียงจะส่งผลทำให้โลกร้อนขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้สมดุลทางธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นจึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจ ที่เราสังเกตได้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์วิปฤติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย โดยหากเปรียบเทียบกับจำนวนภัยทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้า 10 ปีที่ผ่านมา เราจะพบว่า โลกในปัจจุบันประสบกับภัยทางธรรมชาติต่างๆ ที่มีจำนวนครั้งที่เกิดและระดับความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์อย่าง Nicholas Stern ได้คาดการณ์ว่าหากแนวโน้มการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ยังดำเนินต่อไปในลักษณะเช่นนี้ คงไม่เกินปี ค.ศ. 2050 ปริมาณของ CO2 จะอยู่ที่ 560 ppm และจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 650 ppm ภายในไม่เกินปี ค.ศ. 2100 โดยอุณหภูมิของโลกจะเพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณ 5 C และจะส่งผลทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1 เมตร (จากการละลายของพื้นที่ธารน้ำแข็ง) ทั้งนี้ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น 1 เมตร จะส่งผลอย่างรุนแรงต่อพื้นผิวที่อยู่อาศัยของโลก ซึ่งหลายพื้นที่ในโลกจะถูกน้ำท่วมและจมอยู่ใต้ทะเลในโอกาสถัดไปผู้เขียนจะขอเล่าถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ รวมถึงนโยบายและเครื่องมือที่น่าสนใจทางเศรษฐศาสตร์ ที่น่าจะมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น อย่าลืมติดตามคอลัมน์ “ทันเศรษฐกิจ” ในฉบับทุกวันพฤหัสครับ

* "สภาวะโลกร้อน (Global warming)" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 27 ก.ย. 2550

Thursday, September 13, 2007

เปรียบเทียบการลงทุนใน ไทย จีน และเวียดนาม*

เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้เขียนบทความเรื่อง “อย่าคิดแค่ว่าเวียดนามคือคู่แข่งของไทย” โดยชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่ดีของอุตสาหกรรมไทยที่จะใช้ประโยชน์จากเวียดนามที่มีต้นทุนแรงงานและทรัพยากรบางอย่างที่ถูกกว่า บทความที่ผมได้นำเสนอไป มีความสอดคล้องกับทรรศนะของ นายกิติพงษ์ ณ ระนอง เอกอัครราชฑูตไทย ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม (ในรายงาน “เปิดช่องลงทุนตลาด ‘เวียดนาม’ โอกาสทองที่ไม่ควรมองข้าม” หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 30 ส.ค.- 1 ก.ย. 2550) ที่มองว่า ผู้ประกอบการไทยควรมองออกไปในต่างประเทศ ว่าจะใช้ประโยชน์จากตลาดต่างประเทศ อย่างเช่น เวียดนามได้อย่างไร

ยิ่งไปกว่านั้น จากการที่เวียดนามได้มีการลงและเลิกภาษีศุลกากรภายใต้กรอบของเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟต้า) จะเป็นโอกาสที่ดี ที่ทำให้อุตสาหกรรมไทยสามารถเข้าไปในตลาดเวียดนาม รวมถึงโอกาสในการใช้เส้นทาง East-West Corridor ที่เชื่อมระหว่างไทย ลาว จีน และเวียดนาม เพื่อเข้าสู่ตลาดใหญ่ที่สำคัญอย่างจีนอีกด้วย ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นโอกาสที่ดีของอุตสาหกรรมไทยในภูมิภาคนี้ ซึ่งการวางยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมไทยต่อไปข้างหน้าจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องวางอย่างถูกต้อง มิใช่มัวแต่เดินกลับหลังไปสู้เรื่องค่าแรงงานถูก ดังที่ได้กล่าวไปในบทความครั้งที่แล้ว

BUSINESS IN ASIA.COM ได้ทำการเปรียบเทียบปัจจัยที่ใช้ในการลงทุนในประเทศไทย จีน และเวียดนาม ว่าแต่ละประเทศ มีความได้เปรียบหรือเสียเปรียบในปัจจัยใดบ้าง ซึ่งผมคิดว่าเป็นข้อมูลที่น่าสนใจทีเดียว เลยขอใช้พื้นที่ตรงนี้ มาสรุปให้ท่านผู้อ่านได้เห็น โดยเฉพาะในส่วนของปัจจัยที่มีความแตกต่างกัน เพื่อที่จะได้ รู้เขา และรู้เรา มากขึ้นกว่าเดิม

ปัจจัยแรกที่สำคัญที่ใช้ในการเลือกประเทศที่จะลงทุนคือ ปัจจัยในการถือครองที่ดิน ประเทศไทยมีความได้เปรียบในส่วนนี้ เนื่องจากเราอนุญาตให้บริษัทต่างชาติ สามารถเข้ามาซื้อที่ดินในการสร้างโรงงานได้ แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศเวียดนาม และจีน อนุญาตให้ถือครองที่ดิน ในลักษณะการเช่าระยะยาว 40-50 ปี แต่ไม่อนุญาตให้ซื้อขาดได้

ปัจจัยถัดมาคือ มาตรการส่งเสริมการลงทุน เช่นเดียวกัน ประเทศไทยค่อนข้างใจดีมาก นักลงทุนมีโอกาสได้รับการยกเว้นทางด้านภาษี ได้นานถึง 8 ปี ในโครงการที่ BOI อนุมัติ นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้รับสิทธิในการลดภาษีลงครึ่งหนึ่งต่ออีก 5 ปี หลังจากช่วงเวลาในการยกเว้นทางด้านภาษีได้จบสิ้นไป
ประเทศจีนให้สิทธิในการยกเว้นภาษีได้ใน 2 ปีแรก และให้สิทธิในการลดภาษีลงครึ่งหนึ่งในอีก 3 ปีถัดมา เท่านั้น ซึ่งค่อนข้างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทย

สำหรับเวียดนามที่มีโครงสร้างภาษีค่อนข้างซับซ้อน ซึ่งโดยปกติ ภาษีเงินได้นิติบุคคลจะอยู่ในอัตราร้อยละ 28 (ยกเว้น ธุรกิจน้ำมันที่อัตราภาษีอยู่ที่ร้อยละ 50) แต่นักลงทุนอาจได้รับสิทธิพิเศษในการลดภาษีเหลือ ร้อยละ 20% 15% หรือ 10% ในช่วงเวลาหนึ่ง สำหรับสิทธิในการยกเว้นภาษีว่าจะเป็นกี่ปีนั้น ขึ้นอยู่กับพื้นที่ๆ ที่เข้าไปลงทุน ซึ่งอาจได้รับการยกเว้นได้นานถึง 8 ปี ในพื้นที่ชนบท ดังนั้นในภาพรวมแล้ว ประเทศไทยให้สิทธิทางด้านภาษีที่ง่ายกว่าและมากกว่าประเทศจีนและเวียดนาม ซึ่งนับว่าเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบ

สำหรับปัจจัยแรงงาน แรงงานไร้ฝีมือ (Unskilled labor) ของไทยมีค่าแรงสูงกว่าทั้งเวียดนามและจีน จึงทำให้ประเทศไทยมีความเสียเปรียบในเรื่องต้นทุนค่าแรงงานอย่างชัดเจน แต่ในส่วนของแรงงานฝีมือ (Skilled labor) เวียดนามมีปัญหามาก เนื่องจากยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถ โดยในส่วนนี้ ประเทศไทยและจีนมีความได้เปรียบเหนือเวียดนามอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ประเทศไทยและจีนยังมีอุตสาหกรรมเชื่อมโยงและสนับสนุนอยู่มากกว่าเวียดนามที่มีข้อจำกัดของอุตสาหกรรมเชื่อมโยงที่มีค่อนข้างน้อย ซึ่งวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตส่วนใหญ่ จึงเป็นวัตถุดิบที่นำเข้ามาจากนอกประเทศ

สำหรับปัจจัยขนาดตลาดภายในประเทศ เป็นที่แน่นอนว่าประเทศจีนมีความได้เปรียบในเรื่องตลาดภายในประเทศที่มีขนาดใหญ่ จากการที่มีประชากรอยู่มากกว่า 1,300 ล้านคน สำหรับเวียดนาม แม้นว่าจำนวนประชากรที่มีกว่า 85 ล้านคน จะมากกว่าไทยที่มีประชากรอยู่ประมาณ 65 ล้านคน แต่เนื่องจากกำลังซื้อของคนเวียดนามยังต่ำกว่าไทยอยู่มาก จึงทำให้ประเทศไทยมีขนาดของตลาดภายในประเทศไทยที่มีกำลังซื้อมากกว่าเวียดนาม

จากการเปรียบเทียบปัจจัยสำคัญต่างๆ ที่ใช้พิจารณาในการลงทุนยังประเทศ ไทย จีน และเวียดนาม พบว่า ในปัจจุบันประเทศไทยยังมีปัจจัยส่วนใหญ่ ที่มีความได้เปรียบเหนือกว่าประเทศเวียดนาม หรือแม้นแต่กระทั้งประเทศจีน แต่สำหรับปัจจัยที่ประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันกับจีนและเวียดนามได้อย่างชัดเจนคือ ค่าจ้างแรงงานไร้ฝีมือ และขนาดตลาดภายในประเทศ ที่จีนมีขนาดตลาดที่ใหญ่กว่าอย่างชัดเจน

สำหรับมาตรการที่ใช้ในการส่งเสริมการลงทุน ประเทศไทยให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีกับนักลงทุน มากกว่าที่ประเทศเวียดนามและจีนให้แก่นักลงทุน ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่ประเทศไทย จะต้องให้สิทธิหรือข้อยกเว้นทางด้านภาษีแก่นักลงทุนมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

สรุปแล้ว การวางยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมไทยให้เดินต่อไปข้างหน้า ควรพิจารณาจากจุดแข็งและจุดอ่อนที่ประเทศไทยมี โดยควรส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบ อย่างเช่น อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานฝีมือเข้มข้น เป็นต้น เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยสามารถเดินก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง และสามารถใช้ประโยชน์จากประเทศที่มีต้นทุนค่าแรงงานไร้ฝืมือถูก อย่างเช่น เวียดนาม และจีนได้นั่นเอง

* "เปรียบเทียบการลงทุนใน ไทย จีน และเวียดนาม" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 13 ก.ย. 2550

Thursday, August 23, 2007

อย่าคิดแค่ว่า เวียดนามคือคู่แข่งของไทย*

หากขับรถไปตามท้องถนน ผู้อ่านอาจเคยสังเกตเห็นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ที่เขียนว่า “เวียดนามเริ่มตั้งไข่เมื่อวาน… วันนี้เขากำลังจะวิ่งแซงเรา” จริงๆแล้วไม่ว่าเป้าหมายของการลงโฆษณาจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ เราคงต้องยอมรับว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่แสดงถึงความกังวลของคนไทยจำนวนไม่น้อยที่มีต่อภาคอุตสาหกรรมไทย

ความกังวลดังกล่าว ถูกยืนยันด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงงานผลิตรองเท้าขนาดใหญ่ของเท้า เช่น บ.ไทยศิลป์อาคเนย์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด หรือ บริษัท ยูเนี่ยนฟุทแวร์ จำกัด ที่เพิ่งปิดกิจการลงไป ยิ่งไปกว่านั้น เหตุการณ์ที่ค่าเงินบาทผันผวนอย่างรุนแรง เม็ดเงินลงทุนที่ไหลเข้าและไหลออกอย่างรวดเร็ว ยิ่งตอกย้ำและเพิ่มความกังวลที่มีต่ออุตสาหกรรมไทย ว่าจะสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นของไทย ที่กำลังประสบปัญหาอย่างรุนแรงในการแข่งขันกับประเทศต่างๆ เช่น ประเทศเวียดนาม ที่มีต้นทุนค่าแรงงานต่ำกว่าประเทศไทยในเวลานี้

จากข้อมูลในปี 2549 ที่ผ่านมาพบว่า เวียดนามได้รับการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ทั้งสิ้น 10.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ถึงร้อยละ 92.5 ในขณะเดียวกันประเทศไทยได้รับการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศทั้งสิ้น 9.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 26 ซึ่งนับว่าเป็นปีแรก ที่เม็ดเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศไปยังเวียดนามมีมากกว่าประเทศไทย แต่ทั้งนี้ หากมองให้ดีแล้ว แม้ว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนทางตรงไปยังเวียดนามเป็นจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันเม็ดเงินลงทุนที่มายังประเทศไทยก็ยังมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้ลดน้อยลงจากเดิมแต่อย่างใด
 
จากข้อมูลและเหตุการณ์ต่างๆ ที่กล่าวไว้ข้างต้น ทำให้เกิดความเชื่อว่า เวียดนามในปัจจุบันคือคู่แข่งของไทยไปแล้ว ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ประเทศไทยควรเป็นกังวลจริงๆหรือไม่กับการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของประเทศเวียดนาม รวมถึงแนวทางที่อุตสาหกรรมไทยจะใช้ในการปรับตัวควรเป็นอย่างไร

ภายใต้โลกาภิวัฒน์ (Globalization) ที่พรมแดนระหว่างประเทศเริ่มหายไป การติดต่อสื่อสาร การเดินทาง หรือ การเคลื่อนย้ายการลงทุนเป็นเรื่องง่ายดาย เวียดนามซึ่งมีจุดแข็งในเรื่องของค่าแรงงานถูก อีกทั้งการเมืองมีเสถียรภาพมั่นคง และมีแนวนโยบายที่ชัดเจนในการพัฒนาประเทศแบบทุนนิยม ล้วนเป็นจุดเด่นของเวียดนาม ที่ทำให้นักลงทุนจากต่างประเทศสนใจไปลงทุนในเวียดนามเป็นจำนวนมาก แต่ถึงกระนั้นเวียดนามเองก็ใช่ว่าจะสมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง หากเปรียบเทียบกับประเทศไทยแล้ว ประเทศไทยมีแรงงานที่มีฝีมือมากกว่า มีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดีกว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นจุดแข็งที่สำคัญของประเทศไทย
 
หากจะพิจารณาแต่ปัจจัยค่าแรงงานแต่เพียงอย่างเดียว แม้ว่าในโลกใบนี้จะไม่มีเวียดนามอยู่ ก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศผู้ลงทุนจะมาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น เพราะคงมีประเทศอื่นๆ ที่มีค่าแรงงานต่ำกว่าประเทศไทย และนักลงทุนจากต่างประเทศสนใจที่จะเคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปยังประเทศเหล่านั้นอยู่อีกเป็นจำนวนมาก

ดังนั้นหากเราคิดว่าเวียดนามเป็นคู่แข่งของไทย นั่นก็หมายความว่า เรากำลังคิดแข่งขันกับเวียดนามในเรื่องของค่าแรงงานถูก ซึ่งถ้าคิดอย่างนี้ เราคงไม่มีทางที่จะเดินไปข้างหน้าหรือจะสู้กับเวียดนามได้ เพราะในปัจจุบันค่าแรงงานไทยไม่ใช่จุดแข็งที่ทำให้นักลงทุนอยากมาลงทุนในประเทศไทยอีกต่อไปแล้ว
 
กรณีที่เกิดขึ้นกับการปิดกิจการโรงงานรองเท้าที่ผ่านมา ที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงจากประเทศอื่นๆ มีประเด็นที่น่าสนใจ คือเพราะเหตุใด บริษัทเหล่านั้น จึงไม่พัฒนาให้สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง อย่างเช่น การคิดค้นสร้างผลิตภัณฑ์ หรือสร้างแบรนด์สินค้าของตนขึ้นเอง แทนที่จะผลิตตามออร์เดอร์ที่ได้รับแต่เพียงอย่างเดียว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นงเหล่านี้ ชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมที่เป็นแต่เพียงผู้รับจ้างผลิต กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากในโลกที่มีการแข่งขันสูงในปัจจุบัน ซึ่งเราอาจเห็นโรงงานต่างๆ ทะยอยปิดกิจการกันอีกมากในอนาคตอันใกล้

อุตสาหกรรมไทยควรปรับตัวให้สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง การเติบโตขึ้นของเวียดนามเป็นโอกาสที่ดีของอุตสาหกรรมไทยที่จะใช้ประโยชน์จากการที่เวียดนามมีต้นทุนค่าแรงที่ถูก มีทรัพยากรอยู่เป็นจำนวนมาก และอยู่ใกล้กับประเทศไทย มาใช้ในการขยายฐานการผลิต โดยทรัพยากรใดที่เขามี แต่เราไม่มี หรือมีแต่แพงกว่า เราควรจะใช้เขาให้เป็นฐานการผลิต ในขณะเดียวกันอุตสาหกรรมไทย ควรหันไปผลิตสินค้าที่ต้องการใช้แรงงานฝีมือมากขึ้นการกำหนดจุดยืนของอุตสาหกรรมไทยให้เดินไปข้างหน้า เช่นเดียวกับที่ประเทศพัฒนาแล้วเขาคิดกัน จึงเป็นสิ่งสำคัญ ประเทศไทยไม่ควรเดินถอยหลังกลับไป แข่งขันกับเวียดนามในเรื่องค่าแรงงานถูกอีกต่อไปแล้ว นอกจากนี้อุตสาหกรรมไทยยังควรใช้ประโยชน์จากโลกาภิวัฒน์ ดังที่เราเห็นบริษัทใหญ่ๆที่ประสบผลสำเร็จของไทยในวันนี้ ได้เริ่มหันไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นในปัจจุบัน

* "อย่าคิดแค่ว่า เวียดนามคือคู่แข่งของไทย" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 23 ส.ค. 2550

Thursday, July 12, 2007

ระบบภาษี กับกรณีภาษีหุ้นชินคอร์ป*

ในสัปดาห์ที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่สำคัญเกิดขึ้นมาหลายเหตุการณ์ โดยหนึ่งในข่าวใหญ่ที่ปรากฎออกมาคือ การที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้มีมติตั้งอนุกรรมการไต่สวนกรณีเจ้าพนักงานกรมสรรพากรปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

โดยเหตุเกิดจากการที่ กรมสรรพากรไม่จัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ซื้อหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยการซื้อหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ผลต่างระหว่างราคา เข้าลักษณะเงินพึงได้ประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ซื้อหุ้นต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538

จริงๆแล้ว ข่าวนี้คงไม่ได้เป็นข่าวที่ทำให้คนในสังคมไทยต้องแปลกใจแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคอข่าวหรือผู้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด น่าจะคาดการณ์ได้ล่วงหน้า ถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการขายหุ้นชินคอร์ปไปให้เทมาเส็ก หากเปรียบแล้ว ถ้าเรื่องราวเรื่องนี้เป็นหนังชีวิตเรื่องหนึ่ง หนังเรื่องนี้แม้นจะยังไม่ทันเปิดฉายจนจบ แต่ดูจากตอนต้นของเรื่องแล้ว คนดูก็สามารถคาดเดาได้ถึงตอนจบของหนังได้ไม่ยากนัก

สิ่งที่ผู้เขียนแปลกใจคือ เหตุใด ความสนใจของผู้คนในสังคม รวมถึงเจ้าหน้าที่ภาครัฐทั้งหมดในเวลานี้ จึงหยุดอยู่เพียงกรณีของหุ้นชินคอร์ปเพียงเท่านั้น การทำนิติกรรมอำพรางในลักษณะเหล่านี้ โดยมีจุดมุ่งหมายในการเลี่ยงการเสียภาษี หรือแม้นแต่มีวัตถุประสงค์อื่นๆแอบแฝงอยู่ คงไม่ได้เกิดขึ้นกับกรณีของหุ้นชินคอร์ปเป็นกรณีแรกและกรณีเดียวเท่านั้น ในความเป็นจริง การทำนิติกรรมอำพรางคงมีอยู่อีกมากมาย จนหลายท่านอาจคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ที่คนรวยสามารถทำได้ แต่แทบจะไม่มีใคร โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐ ให้ความสนใจมากนัก ในการตรวจสอบสิ่งที่ผิดและแก้ไขช่องโหว่เหล่านี้ให้หมดสิ้นไป

คงต้องยอมรับว่าระบบภาษีของประเทศไทย หรือแม้แต่ประเทศส่วนใหญ่ในโลก แม้นแต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว มีช่องโหว่ทางด้านภาษีมากมาย (Tax loopholes) ที่ช่วยคนรวยให้มีหนทางทั้งที่ถูกต้องตามกฎหมาย (Tax avoidance) และหลายๆหนทางที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย (Tax evasion) ในการที่จะลดหรือเลี่ยงภาษีได้

มหาเศรษฐีของโลก คุณ Warren Buffet ได้กล่าวในงานเลี้ยงเพื่อหาทุนในการเลือกตั้งแก่ Hillary Clinton หนึ่งในผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครตในช่วงปลายเดือนที่แล้วว่า ระบบภาษีในปัจจุบันช่วยให้คนรวยสามารถเสียภาษีน้อยกว่าคนชั้นกลาง โดยในปีที่ผ่านมา เขาเสียภาษีเพียงอัตราร้อยละ 17.7 ของรายได้ ทั้งที่เขาไม่ได้พยายามที่จะเลี่ยงภาษีเลย ซึ่งถ้าว่ากันไปแล้ว หากคุณ Warren Buffet พยายามหาช่องทางในการเลี่ยงภาษีอีกนิด อัตราภาษีต่อรายได้ที่เขาจะต้องจ่ายคงจะน้อยกว่านี้อีกมาก ในขณะเดียวกัน พนักงานต้อนรับของเขา กลับต้องเสียภาษีสูงถึงอัตราร้อยละ 30 ของรายได้

เรื่องที่คุณ Warren Buffet กล่าวนี้ หลายคนฟังเป็นเรื่องตลก แต่หากคิดให้ดี เรื่องนี้คงเป็นเรื่องตลกร้าย ที่น่าเศร้ามาก ชี้ให้เห็นและยืนยันถึงความเลวร้ายของระบบภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบัน ที่มีความความไม่เท่าเทียม หรือความเหลื่อมล้ำของโอกาสระหว่างคนจนและคนรวยที่เกิดขึ้นจริงในโลกใบนี้ ซึ่งคงหมายรวมถึงระบบภาษีของประเทศไทยด้วย

ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย หากกรมสรรพากรจะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ ไล่ล่า และป้องกันไม่ให้มีการทำนิติกรรมอำพรางเกิดขึ้นเพื่อเลี่ยงภาษีภายใต้ระบบภาษีที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากที่จะสามารถตรวจจับได้หมด เพราะการทำนิติกรรมอำพรางในปัจจุบันมีความซับซ้อนมาก และถึงแม้จะสามารถตรวจจับได้ กรมสรรพากรก็คงจำเป็นต้องทุ่มทรัพยากรเป็นจำนวนมากเพื่อใช้ในการตรวจสอบ แต่ที่สำคัญ การตรวจสอบเหล่านี้เป็นเสมือนการตรวจจับที่ปลายเหตุมากกว่า

แนวทางการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ควรเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุมากกว่า เช่น การพิจารณาถึงแนวทางในการปฎิรูประบบภาษี ให้มีช่องโหว่น้อยที่สุด และเป็นระบบภาษีที่เป็นธรรม กล่าวคือ ผู้มีรายได้น้อยเสียภาษีจริงในอัตราที่น้อยกว่าผู้มีรายได้มาก ไม่ใช่เป็นเพียงอัตราภาษีก้าวหน้าที่ปรากฎอยู่บนกระดาษเท่านั้น

* "ระบบภาษี กับกรณีภาษีหุ้นชินคอร์ป" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 12 ก.ค. 2550

Thursday, May 17, 2007

โครงสร้างภาษีเดียวของกลุ่มสหภาพยุโรป*

ในโลกใบเล็กของเรา มีข่าวเล็กๆ ข่าวหนึ่งออกมาในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเพียงแค่ข่าวเล็กๆ ที่แทบจะไม่มีใครให้ความสนใจในประเทศไทย แต่ข่าวนี้หากเป็นจริงเมื่อใด ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงวิธีชีวิตของคนหลายร้อยล้านคนบนโลกแห่งนี้กันเลยทีเดียว ข่าวที่ผมกล่าวถึงในที่นี้คือ ข่าวการเริ่มพิจารณาเพื่อนำไปสู่การออกกฎหมายที่จะใช้โครงสร้างภาษีเดียวกัน (Tax harmonization) ของกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (European Union)

หากย้อนกลับไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ได้สร้างความประหลาดใจให้กับโลกใบนี้ ด้วยความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงที่จะใช้เงินสกุลเดียวร่วมกัน ซึ่งเรารู้จักกันในชื่อของเงินสกุลยูโร เหตุการณ์ในครั้งนั้น ประเทศสมาชิกทั้งหลายจำเป็นต้องยอมเสียสละถึงความมีอิสระทางด้านนโยบายการเงินในแต่ละประเทศ (Monetary policy sovereignty) ซึ่งถือได้ว่าเป็นก้าวย่างที่สำคัญก้าวใหญ่ ที่จะนำไปสู่การเป็นเขตเศรษฐกิจหนึ่งเดียวของกลุ่มสหภาพยุโรป มาในวันนี้กลุ่มสหภาพยุโรปกำลังจะสร้างความประหลาดใจให้กับโลกครั้งใหม่ ด้วยการผลักดันข้อตกลงการมีโครงสร้างภาษีนิติบุคคลเดียวกัน ซึ่งในครั้งนี้สิ่งที่ประเทศสมาชิกจะต้องยอมสูญเสียคือ ความมีอิสระของนโยบายภาษี (Tax sovereignty)

แม้การขาดอิสระของการกำหนดนโยบายภาษีจะทำให้รัฐบาลขาดเครื่องมือที่สำคัญไปก็ตาม แต่โครงสร้างภาษีเดียวเองก็มีข้อดีอยู่หลายประการด้วยกัน ซึ่งสิ่งที่เราสามารถเห็นได้ไม่ยาก คือ โครงสร้างภาษีเดียว ช่วยส่งเสริมให้กลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรปรวมกันเป็นเนื้อเดียวกันอย่างเป็นบึกแผ่นและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น และยังช่วยลดต้นทุนในการกรอกภาษี (Tax compliance costs) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบริษัทข้ามชาติ ที่มีธุรกิจ ธุรกรรมอยู่ในหลายประเทศลง

นอกจากนี้อีกหนึ่งประโยชน์ที่สำคัญอย่างยิ่งในทางเศรษฐศาสตร์คือ การช่วยลดความสูญเสียที่เกิดจากการบิดเบือนที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างภาษีที่แตกต่างกันระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนและแรงงาน กล่าวคือ บางประเทศใช้วิธีการกำหนดอัตราภาษีต่ำ เพื่อดึงดูดให้มีเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ แต่การไหลเข้ามาของเงินทุนที่เกิดขึ้นเนื่องจากอัตราภาษีที่แตกต่างกันในลักษณะนี้ จะก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์นั้น เราเรียกว่าความสูญเสียทางประสิทธิภาพ (Efficiency) จากการที่ตลาดถูกบิดเบือนนั่นเอง

แม้ว่าในวันนี้ หลายๆ ประเทศได้ออกมาคัดค้านกับแนวความคิดดังกล่าว เช่น อังกฤษ และไอร์แลนด์ และถึงแม้ว่าหนทางสู่ความสำเร็จที่จะบรรลุข้อตกลงยังอยู่ห่างไกลจากปัจจุบันอยู่มากก็จริง แต่ถ้าหากถามถึงความยากง่ายระหว่าง การบรรลุข้อตกลงการใช้เงินสกุลเดียวกัน กับ การบรรลุข้อตกลงการใช้โครงสร้างภาษีเดียวกัน คำตอบค่อนข้างชัดเจนว่า การบรรลุข้อตกลงที่จะใช้เงินสกุลเดียวกันนั้น ค่อนข้างยุ่งยากและมีความซับซ้อนกว่าค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงเป็นไปได้ครับ หากเราจะได้เห็นถึงความสำเร็จในการบรรลุถึงข้อตกลงทางด้านนโยบายภาษีที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรปในอนาคต

แต่ทั้งนี้เป็นที่น่าเสียดาย หากมองย้อนกลับมายังประเทศในภูมิภาคเราแล้ว หลายๆครั้งในอดีต เช่น ในช่วงที่เราประสบปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเงินในภูมิภาคเอเชีย เราเคยพูดถึงความร่วมมือที่จะนำไปสู่การรวมกลุ่มเศรษฐกิจในภูมิภาค ทั้งในระดับอาเซียน และในระดับเอเชีย เรายังเคยคิดถึงความร่วมมือที่จะปรับใช้ค่าเงินสกุลเดียวร่วมกันในภูมิภาค หรือ แม้แต่การใช้เงินญี่ปุ่นเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนซื้อขายระหว่างประเทศภายในภูมิภาค แทนการพึ่งพิงเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเพียงสกุลเดียว ความร่วมมือเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างให้ภูมิภาคเอเชียสามารถเติบโตได้อย่างมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น

แต่ในวันนี้ 10 ปีผ่านไป ทุกสิ่งทุกอย่าง ยังเป็นเช่นเดิม ไม่มีสัญญานใดๆที่บ่งบอกถึงการพัฒนาหรือความคืบหน้าใดๆที่เป็นรูปธรรม ในการสร้างความร่วมมือกันภายในภูมิภาค ในทางกลับกัน กลับมีแต่สิ่งที่แสดงถึงการแตกแยกและการแข่งขันกันเองภายในภูมิภาค เช่นการแข่งขัน แย่งเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรีชนิดทวิภาคีกับประเทศคู่ค้าต่างๆ (Bilateral Free Trade Agreement)

น่าผิดหวังครับ ทั้งๆที่ ทุกคนต่างทราบกันดีอยู่ว่า การแข่งกันเองในลักษณะนี้ จะเป็นการลดอำนาจต่อรองของตนเองในการเจรจากับประเทศคู่ภาคียักษ์ใหญ่ต่างๆ ลง อีกทั้งยังก่อให้เกิดผลเสียต่างๆ อีกมากมาย สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากความอ่อนแอและความไม่จริงใจที่จะร่วมมือกันระหว่างประเทศต่างๆภายในภูมิภาคนี้นั่นเอง วันนี้หรือวันต่อๆไป เราคงทำได้แต่ยืนมอง ดูการพัฒนาของความร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มประเทศอื่นๆ ภายนอกภูมิภาคแห่งนี้ ผมขอเอาใจช่วยครับ

* "โครงสร้างภาษีเดียวของกลุ่มสหภาพยุโรป" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 17 พ.ค. 2550

Thursday, May 3, 2007

“มึงมีกู ไม่มีจน” *

ในช่วงนี้ คงต้องยอมรับกันอย่างแท้จริงว่า เป็นยุคทองของจตุคาม รามเทพ ฟีเวอร์ ที่เป็นที่สนอก สนใจกันไปทั่ว กระแสความต้องการหยุดเฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่ยังเลยไปถึงประเทศเพื่อนบ้านของเรา หากใครที่ยังไม่รู้จักหรือเคยได้ยินเรื่องราวขององค์จตุคาม รามเทพ อาจกล่าวได้ว่า เป็นคนที่ตกยุค พศ. 2550 นี้ไปเลยทีเดียว

ความร้อนแรงของกระแสจตุคาม รามเทพ ทำให้วงการตลาดพระเครื่องเกือบทุกที่ ได้ปรับเปลี่ยนจากการวางแผงเช่าพระเครื่อง มาเป็นการวางแผนขายวัตถุมงคงจตุคาม รามเทพ จนทำให้ตลาดพระเครื่องเดิมกลับเงียบลงไปถนัดตา ไม่เพียงเท่านั้น ราคาของวัตถุมงคล จตุคาม รามเทพ จากเดิมระดับราคาไม่กี่สิบบาทได้ถูกไล่ขึ้นมาพุ่งพรวดอย่างน่ากลัว ในวันนี้ราคาของวัตถุมงคล จตุคาม รามเทพ ในหลายๆรุ่นได้ถูกดันมาเป็นหลักหมื่น หลักแสน แถมบางรุ่นยังเลยไปยังหลักล้านแล้วก็มี เช่น รุ่นพระเนื้อผง สุริยัน จันทรา ที่สร้างขึ้นในปี 2530 ราคาปัจจุบันทะลุหลักล้านไปแล้ว นอกจากนั้น ความร้อนแรงของกระแสความต้องการ บวกทั้งราคาที่ถูกถีบจนสูงลิ่วของวัตถุมงคล จตุคาม รามเทพที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ทำให้ในปัจจุบันมีของปลอม หรือของลอกเลียนแบบเกิดขึ้นอย่างมากมาย จนทำให้ผู้ซื้อที่ไม่มีความรู้ ตกเป็นเหยื่อ ต้องสูญเสียเงินไปอย่างมากมาย สิ่งต่างๆเหล่านี้ เป็นเครื่องยืนยันเป็นอย่างดีถึงกระแสจตุคาม รามเทพ ฟีเวอร์ ที่เกิดขึ้นในเวลานี้

กระแสความต้องการที่มีมากมายในช่วงเวลานี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ราคาพุ่งทยานสูงขึ้นกว่าราคาที่ควรจะเป็นอย่างมาก เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาเป็นครั้งแรกในประเทศไทย แต่ได้เกิดขึ้นมาซ้ำแล้ว ซ้ำอีก ตัวอย่างเช่น หากผู้อ่านย้อนกลับไปคิดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ที่ช่วงเวลาหนึ่งเสื้อสีเหลืองฉลองคลองราชย์ครบ 60 ปีเกิดปัญหาขาดตลาด เนื่องจากปริมาณความต้องการเสื้อเหลืองที่มีอยู่มาก เกินปริมาณที่เสนอขายอยู่ในตลาด ผู้ขายเสื้อเหลือจึงถือโอกาสเพิ่มราคาเสื้อเหลืองจากเดิมตัวละสอง ถึง สามร้อยบาท ไปเป็นราคาขายเป็นตัวละ หกถึงเจ็ดร้อยบาท ในบางพื้นที่ของประเทศ สิ่งที่เราเห็นตามมาคือ ราคาที่สูงอย่างเกินปกติที่ควรจะเป็นนั้น ไม่ได้อยู่นานนัก เพราะเมื่อราคาของเสื้อเหลืองปรับตัวสูงขึ้น ผู้ผลิตหรือโรงงานทั้งหลายต่างเห็นแนวทางในการหากำไร จึงเพิ่มปริมาณการผลิตเสื้อเหลืองมากขึ้นให้เพียงพอกับความต้องการ จนสุดท้ายในวันนี้ ราคาเสื้อเหลืองก็ได้กลับมาอยู่ในราคาปกติทั่วไป คือตัวละประมาณ สองถึงสามร้อยบาทเท่านั้นเอง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรณีของเสื้อเหลือง นับได้ว่าเป็นเหตุการณ์ปกติของการปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพในทางเศรษฐศาสตร์นั้นเอง ซึ่งจุดดุลยภาพ (Equilibrium) ที่เกิดขึ้นนั้น จะเป็นจุดที่ไม่มีอุปสงค์รวมส่วนเกิน (Aggregate excess demand) หรืออุปทานรวมส่วนเกิน (Aggregate excess supply) เกิดขึ้น นอกจากนั้น ผู้ผลิตหรือผู้ขายในตลาดที่มีการแข่งขัน ก็จะไม่สามารถทำกำไรได้สูงเกินกว่าปกติ ณ.จุดดุลยภาพที่เกิดขึ้น
 
จากประสบการณ์ในอดีตเหล่านี้ ได้นำไปสู่ประเด็นคำถามคือ เหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้จะเกิดขึ้นกับวัตถุมงคล จตุคาม รามเทพ หรือไม่ หรือ ระดับราคาที่ถูกปั่นจนสูงลิ่วของวัตถุมงคล จตุคาม รามเทพ ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ จะคงอยู่ณ.ระดับราคาที่สูงเช่นนี้ไปอีกยาวนานเพียงไร หรืออีกไม่ช้านาน ราคาของวัตถุมงคลจะปรับตัวลดลงมาจนถึงราคาปกติที่ควรจะเป็น

คำตอบของคำถามนี้ คงขึ้นอยู่กับว่า ปัจจัยกระแส จตุคาม รามเทพ ที่มีอยู่ในเวลา จะอยู่ได้อย่างยืนยงหรือไม่ หากกระแสดีไม่มีตก ราคาก็อาจจะไม่ลดลงมา แต่หากกระแส เริ่มแผ่ว ความต้องการที่มีในปัจจุบันก็จะลดลงไป อีกทั้งปัจจัยทางด้านอุปทานที่มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถสังเกตได้ว่า ปัจจุบันได้มีการออกวัตถุมงคล จตุคาม รามเทพ อย่างมากมาย ไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่น จนแทบจะจำชื่อกันไม่ได้ เริ่มทำให้จำนวนวัตถุมงคลในท้องตลาดมีมากขึ้น นอกจากนี้ ปัจจัยที่มีของปลอมหรือลอกเลียนแบบเกิดขึ้นอย่างมาก ล้วนทำลายความมั่นใจและความต้องของผู้ต้องการหาซื้อ สิ่งเหล่านี้จะผลักดันทำให้ราคาของวัตถุมงคล จตุคาม รามเทพ ลดลงมา ตามกลไกของตลาด

ซึ่งหากเหตุการณ์เป็นเช่นนั้นจริง ผู้เขียนรู้สึกกังวล กับคำกล่าวที่ว่า “มึงมีกู ไม่มีจน” หรือการตั้งชื่อวัตถุมงคล จตุคาม รุ่นต่างๆ เช่น รุ่นเงินไหลมาเทมา รุ่นโคตรเศรษฐี ปีมหามงคล คำกล่าวเหล่านั้นคงจะเป็นจริงแน่นอน สำหรับพ่อค้าและผู้ที่ทำธุรกิจในการปล่อยเช่าวัตถุมงคลเหล่านั้นได้ ที่ในเวลานี้ ไม่รู้ว่ารวยกันไปเท่าไหร่แล้ว แต่สำหรับชาวบ้านอย่างเราๆ ท่านๆ ถ้าต้องเสียเงินซื้อวัตถุมงคล เป็นหลักหมื่น หลักแสน เลยไปจนถึงหลักล้าน ทั้งๆที่รู้อยู่ว่า ราคาสูงเกินจริงไปมาก อีกทั้งยังต้องมาเสี่ยงกับของจริงหรือของปลอมอีก คงจะจนลงแน่ๆครับ

ภายใต้ยุคเศรษฐกิจพอเพียง ที่ตัวเลขประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจปรับลดลงแทบทุกเดือน แถมราคาน้ำมันกลับเพิ่มขึ้นจนเกือบจะ 30 บาทอยู่แล้ว ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่จะต้องกลับมาคิดทบทวนว่าเพราะเหตุใด สังคมในวันนี้จึงอ่อนแอ และให้ความสำคัญแก่วัตถุมงคลจนมากเกินพอดี การแสวงหาวัตถุมงคล แล้วต้องเสียเงินเป็นจำนวนมาก จะส่งผลดีต่อชีวิตและก่อให้เกิดความสุขที่แท้จริง มันเป็นอย่างนั้นจริงแท้แน่หรือ?

* “มึงมีกู ไม่มีจน” ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 3 พ.ค. 2550

Thursday, April 5, 2007

การปฎิรูประบบการประกันสุขภาพของผู้ว่าการรัฐกล้ามโต*

มีข่าวหนึ่งที่น่าสนใจทีเดียวเกิดขึ้นในต่างแดน คือ เรื่องการปฎิรูประบบการประกันสุขภาพที่กำลังถูกจุดประกายเกิดขึ้นในบางมลรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกาและอาจมีแนวโน้มจะขยายวงกว้างขึ้นทั่วสหรัฐ ก่อนอื่น ผมขอกล่าวถึงระบบการประกันสุขภาพของประเทศสหรัฐอเมริกาแบบคร่าวๆก่อน
 
ระบบการประกันสุขภาพของประเทศสหรัฐอเมริกามีด้วยกันหลายรูปแบบ มีทั้งระบบภาครัฐและระบบภาคเอกชน โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระบบหลักคือ 1) การประกันสุขภาพภาคเอกชนผ่านการจ้างงาน 2) การประกันสุขภาพภาคเอกชนส่วนบุคคล 3) การประกันสุขภาพภาครัฐแก่ผู้สูงอายุ (Medicare) ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง และ 4) การประกันสุขภาพภาครัฐแก่ผู้มีรายได้น้อย (Medicaid) ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น
 
ถึงแม้ประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีระบบประกันสุขภาพอยู่หลายระบบก็ตาม แต่ในปัจจุบัน ยังมีประชาชนสหรัฐอเมริกา กว่า 47 ล้านคนที่ยังไม่มีประกันทางสุขภาพ คิดเป็นสัดส่วนถึงหนึ่งในหกของประชากรทั้งหมด แต่ทั้งนี้ตามกฎหมายของสหรัฐแล้ว โรงพยาบาลต่างๆจะต้องดูแลรักษา ผู้ป่วยที่มาใช้บริการจากห้องผู้ป่วยฉุกเฉิน แม้ผู้ป่วยเหล่านี้จะไม่มีหลักประกันทางสุขภาพใดๆเลยก็ตาม
 
แน่นอนครับ ของฟรีมักจะมีปัญหาติดตามมาด้วยเสมอ ปัญหาพื้นฐานที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้แก่ หนึ่ง ผู้ป่วยที่ไม่มีประกันสุขภาพที่มารักษาฟรี มักไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ดีนัก เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่มีประกันสุขภาพ ซึ่งผมว่าปัญหานี้คงเป็นปัญหาที่คล้ายคลึงกันในหลายประเทศ (รวมถึงประเทศไทย) และอีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญคือ เมื่อมีการให้บริการรักษาฟรีแก่ผู้ที่ไม่มีประกันสุขภาพแล้ว ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าวที่เกิดขึ้น สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ในหลายๆ ประเทศที่ใช้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health-care Insurance) ภาครัฐจะเข้าไปให้เงินอุดหนุนแก่โรงพยาบาลที่ให้บริการ ซึ่งแน่นอนครับ เงินอุดหนุนเหล่านั้น คงมาจากที่อื่นๆไม่ได้นอกไปเสียจากเงินภาษีของประชาชน
 
ในกรณีของระบบประกันสุขภาพของสหรัฐที่ไม่ได้ใช้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าเหมือนประเทศอื่นๆ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเหล่านั้นส่วนหนึ่ง โรงพยาบาลจะผลักภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปยังผู้ป่วยที่มีประกันสุขภาพ จึงไม่น่าแปลกใจครับ ที่ค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นในสหรัฐจึงมีราคาแพงมาก ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือ ค่าประกันสุขภาพจึงมีราคาสูง สุดท้ายผู้ที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเหล่านั้นจริงๆ ก็หนีไม่พ้นประชาชนที่ซื้อประกันสุขภาพในราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็นนั่นเอง
 
สำหรับการปฎิรูประบบประกันสุขภาพที่กำลังเกิดขึ้นในบางมลรัฐของสหรัฐ ที่ผมกล่าวถึงตอนต้นคือ การบังคับให้ประชาชนทุกคนที่อยู่ในรัฐนั้นมีการประกันสุขภาพ โดยจุดเริ่มต้นของแนวนโยบายดังกล่าวเริ่มต้นที่มลรัฐ Massachusetts ซึ่งมีคุณ Mitt Romney เป็นผู้ว่าการรัฐ ซึ่งเขาได้กำหนดให้นับแต่เดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป ประชาชนทุกคน จะต้องมีการประกันสุขภาพ หากใครที่ไม่มีการประกันสุขภาพจะถูกปรับ

แน่นอนครับสำหรับประชาชนที่มีรายได้น้อยและไม่สามารถซื้อประกันด้วยตนเองได้ รัฐจะต้องเข้าไปช่วยอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อประกันเหล่านั้น ซึ่งแนวนโยบายดังกล่าวได้รับการขานรับจากมลรัฐอื่นๆ ซึ่งรวมถึงมลรัฐ California ของผู้ว่าการรัฐกล้ามโต Arnold Schawarzenegger
 
ผมเองก็คิดว่านโยบายดังกล่าว มีความน่าสนใจมากทีเดียว และมีข้อดีอยู่หลายข้อด้วยกัน หนึ่งในข้อดีคือ จะสามารถแก้ปัญหา การเลือกโดยได้รับผลตรงข้าม (Adverse Selection) ในธุรกิจประกันสุขภาพให้หมดลงไปได้
 
ผมขออนุญาตอธิบายถึงปัญหา Adverse Selection ให้ผู้อ่านได้รับทราบพอสังเขป ปัญหา Adverse Selection เป็นหนึ่งในปัญหาที่เกิดจากความล้มเหลวของกลไลตลาด (Market Failure) โดยหากปล่อยให้ให้ตลาดทำงานด้วยตัวของมันเอง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอาจสร้างปัญหาต่อสังคมขึ้น เช่น หากปล่อยให้ประชาชนตัดสินใจเองว่าจะซื้อประกันสุขภาพหรือไม่ ประชาชนส่วนใหญ่ที่มีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ก็จะตัดสินใจไม่ซื้อประกันสุขภาพ เพราะคนกลุ่มนี้มีโอกาสน้อยในขณะนั้นน้อยที่จะได้ใช้บริการทางการแพทย์ แต่ในขณะเดียวกันคนอีกกลุ่มหนึ่งที่จะตัดสินใจซื้อประกันสุขภาพ จะเป็นกลุ่มคนที่มีสุขภาพไม่สมบูรณ์นัก คนกลุ่มนี้จะมีโอกาสในการใช้บริการสุขภาพมากนั่นเอง ผลลัพท์ที่เกิดขึ้นตามมาคือ เมื่อคนแข็งแรงไม่ซื้อประกัน มีแต่คนสุขภาพไม่ดีมาซื้อประกัน บริษัทผู้ขายประกันก็จะขายประกันสุขภาพในราคาแพงกว่าที่ควรเป็น ซึ่งจะยิ่งทำให้ผู้ที่มีสุขภาพดี ตัดสินใจไม่ซื้อประกันสุขภาพ หรือไม่ก็ บริษัทผู้ขายประกันอาจไม่ยินดีขายประกันแก่ผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะมีความเสี่ยงมาก ตัวเหตุผลดังกล่าว การปล่อยให้ตลาดทำงานด้วยตัวของมันเอง ผลลัพท์ที่เกิดขึ้นอาจไม่เป็นส่งผลดีต่อสังคมนัก
 
นโยบายการปฎิรูประบบประกันสุขภาพที่นำเสนอโดยผู้ว่าการรัฐ Mitt Romney และ Arnold Schawarzenegger จะแก้ปัญหา Adverse Selection ที่มีลงได้ เพราะทั้งกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงและความเสี่ยงต่ำจะต้องซื้อประกันสุขภาพด้วยกันทั้งสิ้น และทีนี้ครับ เราก็สามารถปล่อยให้กลไกตลาดทำงานด้วยตัวของมันเองได้ ผลลัพท์ที่ได้ จะทำให้ประชาชนสามารถซื้อประกันสุขภาพในราคาที่ถูกลงและเกิดความเป็นธรรมยิ่งขึ้นนั่นเอง
 
แน่นอนครับนโยบายการปฎิรูปดังกล่าว ไม่ใช่ว่าจะเป็นนโยบายที่ไร้ปัญหา ปัญหาที่เกิดขึ้นในทางปฎิบัติที่สำคัญปัญหาหนึ่งคือ รัฐจะหาแหล่งเงินทุนจากที่ใด มาใช้ในการอุดหนุนช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยให้สามารถมีประสุขภาพได้ ปัญหานี้ค่อนข้างรุนแรงครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีของมลรัฐ California ที่มีประชากรกว่า 6.5 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน หนึ่งในห้าของประชากรทั้งหมด ที่ปัจจุบันยังไม่มีหลักประกันสุขภาพ ผู้ว่าการรัฐกล้ามโตจะสามารถแก้ปัญหาที่สำคัญนี้ได้อย่างไร ตรงนี้เราคงต้องติดตามดูกันต่อไปครับ
 
* "การปฎิรูประบบการประกันสุขภาพของผู้ว่าการรัฐกล้ามโต" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 5 เม.ย. 2550