Thursday, November 22, 2007

ทฤษฏีเกมส์กับการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน*

ในบทความทันเศรษฐกิจหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้เล่าถึงสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น รวมถึงพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ที่ปัจจุบันมีประเทศกว่า 175 ประเทศทั่วโลกได้ลงนามให้สัตยาบันรับรอง ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือระดับประเทศในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลง

แต่ทั้งนี้ความร่วมมือระดับประเทศดังกล่าว คงไม่อาจแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนให้หมดลงได้ เนื่องจากนโยบายสาธารณะรัฐต่างๆที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการลดหรือจำกัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาในแต่ละประเทศ เช่น Carbon tax หรือ การเก็บภาษีตามปริมาณคาร์บอนที่ถูกปล่อยออกมา มักจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในประเทศ ตัวอย่างเช่น หากรัฐดำเนินการเพิ่มภาษีสินค้าน้ำมันหรือรถยนต์ให้สูงขึ้นจากเดิม เพื่อลดปริมาณการบริโภคน้ำมันและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์ลง ประชาชนผู้ใช้รถยนต์ส่วนใหญ่ในประเทศคงไม่เห็นด้วยแน่ เพราะต้องจ่ายค่าน้ำมันแพงขึ้นไปอีก จากที่ปัจจุบันแทบจะจ่ายกันไม่ไหวอยู่แล้ว สุดท้ายก็คงจะผลักความรับผิดชอบไปยังผู้ผลิตสินค้าแทน

ในกรณีที่ภาระทางภาษีคาร์บอนถูกผลักไปยังผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ภาษีเหล่านี้จะเพิ่มต้นทุนของการผลิตสินค้าให้สูงขึ้น จากการที่ผู้ผลิตต้องเพิ่มการลงทุนในการควบคุมปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาให้เป็นไปตามที่เป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งแน่นอนว่า ต้นทุนที่ปรับสูงขึ้นมานี้ จะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในตลาดโลก และสุดท้ายภาระทางภาษีก็จะถูกผลักมายังผู้บริโภคสินค้าในประเทศ ผ่านทางราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นอยู่ดี

ดังนั้นคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่นโยบายสาธารณะที่ใช้ในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจะได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชนและภาคธุรกิจต่างๆในประเทศ จึงไม่น่าแปลกใจที่็น็เราจะสังเกตได้ว่า แม้นปัจจุบันสังคมไทยได้ตระหนักถึงปัญหาสภาวะโลกร้อนมากขึ้น แต่กลับไม่มีพรรคการเมืองใด ที่จะกล้านำเสนอหรือชูนโยบายในการแก้ไขสภาวะโลกร้อนเป็นนโยบายนำของพรรค (แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา) แต่กลับมุ่งนำเสนอนโยบายประชานิยม ที่ให้ประโยชน์โดยตรงแก่ประชาชนเป็นสำคัญ เพราะนโยบายประชานิยมเหล่านี้ง่ายที่จะได้รับการสนุนจากประชาชนนั่นเอง

นอกจากปัญหาในแง่ของการใช้นโยบายสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนในประเทศแล้ว ยังมีปัญหาใหญ่ที่สำคัญอีกปัญหาหนึ่ง ที่ทำให้การแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนในระดับประเทศไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควร ปัญหาที่ว่านี้คือ ปัญหาที่เกิดจากความไม่ร่วมมือกันของทุกประเทศ ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น หรือดำเนินการปรับลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลงนั่นเอง

หากมีเพียงไม่กี่ประเทศที่ดำเนินการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลง ก็ไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นได้ อย่างดีที่สุดอาจสามารถบรรเทาหรือชะลอปัญหาลงได้บางส่วน แต่ทั้งนี้ประเทศที่ไม่ได้ดำเนินการปรับลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลง (ด้วยเหตุผลส่วนหนึ่ง ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น) ก็จะได้รับประโยชน์จากการดำเนินการของประเทศอื่นๆ โดยที่ไม่ต้องลงมือทำเอง ในทางเศรษฐศาสตร์เรากล่าวถึง คนที่รอผลประโยชน์จากการกระทำของคนอื่นโดยที่ตัวเองไม่ลงมือทำว่า “Free Rider”

แต่ถ้าหากประเทศส่วนใหญ่ทำตัวเป็น Free Rider โดยรอคอยผลประโยชน์ที่เกิดจากการดำเนินการของคนอื่น สุดท้ายก็คงไม่มีประเทศใดที่จะยอมดำเนินการในการปรับลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกของตนลง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ ทุกประเทศจะต้องเผชิญกับปัญหาสภาวะโลกร้อนที่รุนแรงกว่า ในกรณีที่ประเทศต่างๆ ร่วมมือกันดำเนินการ หรืออย่างน้องมีบางประเทศดำเนินการปรับลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลง

สิ่งที่น่าสนใจในเวลานี้คือ ประเทศพัฒนาแล้วที่ทำตัวเป็น Free Rider กลับเป็นประเทศพี่ใหญ่ของโลก อย่าง สหรัฐอเมริกา ทั้งๆที่สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งถ้าหากปราศจากการร่วมมือของสหรัฐอเมริกา คงเป็นการยากที่จะทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกบนชั้นบรรยากาศโลกจะลดลงจากเดิมได้อย่างมีนัยสำคัญ



ในทางเศรษฐศาสตร์ ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในลักษณะที่ประเทศต่างๆ สามารถเลือกที่จะดำเนินการหรือไม่ดำเนินการเป็นรูปแบบหนึ่งของ Prisoners’ Dilemma ในทฤษฎีเกมส์ (Game Theory) ซึ่งผู้อ่านบางท่านอาจจะพอจำได้จากหนังเรื่อง “A Beautiful Mind” ซึ่งเป็นหนังชีวประวัติของ John Nash นักเศรษฐศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ได้รับรางวัลโนเบิลนั่นเอง

ปัญหาสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นนี้ มีความแตกต่างจากปัญหาพื้นฐานของ Prisoners’ Dilemma อยู่ประการหนึ่งคือ ในปัญหา Prisoners’ Dilemma ผู้ต้องหาแต่ละคนไม่ทราบว่า ผู้ต้องหาอีกคนจะสารภาพผิดต่อตำรวจหรือไม่ หากต่างไม่สารภาพ ผู้ต้องหาทั้งคู่ก็จะพ้นข้อกล่าวหา แต่หากมีคนใดคนหนึ่งยอมรับสารภาพผิด ในขณะที่อีกคนไม่ยอมรับสารภาพ คนที่ไม่สารภาพผิดก็จะถูกลงโทษอย่างรุนแรง กว่าในกรณีที่ผู้ต้องหาทั้งสองคนยอมรับสารภาพผิดตั้งแต่แรก

ในกรณีของความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อน ประเทศต่างๆ มีทางเลือกที่จะดำเนินการปรับลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกหรือไม่ ทุกประเทศต่างทราบดีว่า ประเทศใดบ้างที่ดำเนินการ หรือไม่ดำเนินการ ตรงนี้คือความแตกต่างที่สำคัญกับปัญหา Prisoners’ Dilemma ที่กล่าวแล้วข้างต้น

ทางออกที่จะทำให้ทุกประเทศมีพันธะร่วมกันดำเนินการปรับลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลงได้นั้น คงไม่เพียงพอแน่ที่จะรอให้แต่ละประเทศยินดีที่จะดำเนินการด้วยตนเอง เนื่องจากทุกประเทศอยากที่จะทำตัวเป็น Free Rider ดังนั้นวิธีการที่จะทำให้ทุกประเทศร่วมมือกันได้นั้น จะต้องเกิดจากแรงบีบจากภายนอก เพื่อบังคับไม่ให้ประพฤติตัวเป็น Free Rider ได้ ซึ่งจุดนี้เป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้ความร่วมมือกันระดับประเทศประสบผลสำเร็จประเทศฝรั่งเศษได้เสนอให้สหภาพยุโรป (EU) เก็บภาษีคาร์บอนแก่สินค้าอุตสาหกรรมที่นำเข้ามาจากประเทศ (พัฒนาแล้ว) ที่ไม่ยอมมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกลง ตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าติดตาม ถึงการตัดสินใจของสหภาพยุโรป และจุดยืนของสหรัฐอเมริกาที่จะมีต่อไปในอนาคต ภายใต้แรงบีบคั้นจากประเทศพัฒนาอื่นๆทั่วโลกที่เกิดขึ้น

* "ทฤษฏีเกมส์กับการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 22 พ.ย. 2550

No comments:

Post a Comment