Thursday, October 8, 2009

ภาษีน้ำอัดลม*

ในช่วงปลายปี ค.ศ. 2008 ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก นาย David Paterson ได้เสนอแผนจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่เต็มไปด้วยน้ำตาล (Sugary drink) และเครื่องดื่มน้ำอัดลมที่ไม่กันความอ้วน (Non-diet sodas) เพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นอัตราร้อยละ 18 โดยใช้หลักการของการจัดเก็บภาษีพิกูเวียน (Pigouvian tax) ที่ถูกตั้งชื่อตาม นาย Arthur C. Pigou นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ผู้เสนอแนวคิดของการจัดเก็บอัตราภาษีตามผลกระทบภายนอก (Externality) ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมของผู้บริโภคและผู้ผลิต

ตัวอย่างของภาษีพิกูเวียน ได้แก่ ภาษีสิ่งแวดล้อม ภาษีสุรา ภาษียาสูบ เป็นต้น การดื่มสุราหรือการบริโภคยาสูบ ไม่เพียงส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภคแล้ว แต่ยังส่งผลกระทบภายนอกที่นำไปสู่ปัญหาทางสังคมอื่นๆ ติดตามมาอีกมากมาย ต้นทุนทางสังคม (Social cost) ที่เกิดขึ้น ซึ่งรวมทั้งต้นทุนต่อผู้บริโภคและต่อบุคคลอื่นๆ จึงสูงกว่าต้นทุนของการบริโภค (Private cost) ที่ผู้บริโภคจ่ายเพื่อการบริโภค ดังนั้นการจัดเก็บภาษีจึงมีเป้าหมายเพื่อทำให้ต้นทุนของผู้บริโภคสอดคล้องหรือเท่ากับต้นทุนทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการบริโภคนั่นเอง

เช่นเดียวกัน วัตถุประสงค์ของการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กนำเสนอ คือ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของประชาชนให้ลดการบริโภคเครื่องดื่มเหล่านี้ลง ผ่านการทำงานของกลไกราคาที่ปรับสูงขึ้นจากภาษีที่จัดเก็บเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากเครื่องดื่มน้ำอัดลมและเครื่องดื่มที่เต็มไปด้วยน้ำตาล ถูกพบว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาโรคอ้วน (Obesity) ซึ่งได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน ที่รัฐบาลต้องรับภาระค่าใช้จ่ายและใช้งบประมาณทางด้านสาธารณสุขในการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนเป็นจำนวนมากในแต่ละปี

แผนปรับอัตราภาษีเครื่องดื่มในครั้งนี้ ได้ถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากบรรดาผู้ผลิตเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ทั้งหลายที่ย่อมได้รับผลลบโดยตรงจากมาตรการที่ถูกนำเสนอ อีกทั้งไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนที่ไม่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาริดรอนเสรีภาพในการบริโภคของตน จากรายงานการสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ ที่เป็นสมาชิกของสมาคมนักเศรษฐศาสตร์ของประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงปี ค.ศ. 2007 ของ Prof. Robert Whaples ที่พึ่งออกมาพบว่า นักเศรษฐศาสตร์กว่าร้อยละ 60 แสดงความไม่เห็นด้วย หากมีการจัดเก็บภาษีพิเศษกับอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพในประเทศสหรัฐอเมริกา

ถึงแม้ข้อเสนอในการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มน้ำอัดลมและเครื่องดื่มที่เต็มไปด้วยน้ำตาลของผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กในครั้งนี้จะไม่ประสบผลสำเร็จก็ตาม แต่ข้อเสนอนี้กลับได้รับความสนใจและถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก ที่แม้แต่ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา นายบารัค โอบามา (Barack Obama) ยังได้กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ Men’s Health Magazine เมื่อเดือนที่ผ่านมาว่า การจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มน้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่เต็มไปน้ำตาล เป็นแนวคิดที่น่าสนใจและน่าศึกษา โดยเฉพาะในช่วงที่สหรัฐอเมริกากำลังดำเนินการปฎิรูประบบสุขภาพของประเทศ (Health care reform) นอกจากนี้ นายบารัค โอบามา ยังได้กล่าวว่า เขาเข้าใจเป็นอย่างดีที่ข้อเสนอหรือแนวคิดดังกล่าว ไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนที่ไม่ต้องการให้ภาครัฐเข้าไปกำหนดพฤติกรรมในการบริโภค แต่ทั้งนี้ผลประโยชน์ที่ประเทศและสังคมโดยรวมจะได้รับ อาจคุ้มค่ากับการนำมาพิจารณาใช้ในอนาคตก็เป็นได้

ดังนั้นทิศทางของการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มน้ำอัดลมและเครื่องดื่มที่เต็มไปด้วยน้ำตาลในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีแนวโน้มที่จะจัดเก็บภาษีสินค้ากลุ่มนี้ในอัตราที่สูงขึ้น ตามลักษณะของสินค้าที่มีผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภคและต่อสังคมโดยรวม แต่ในขณะเดียวกัน กลับมีเหตุการณ์ที่สวนทางเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยมีบริษัทเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ ได้เข้ามาขอให้รัฐบาลไทยช่วยเหลือโดยการปรับลดภาษีสรรพาสามิตที่จัดเก็บเดิมในอัตราร้อยละ 20 ลงมา เพื่อแลกเปลี่ยนกับการลงทุนในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นปีละ 1,000 ล้านบาท รัฐบาลไทยควรพิจารณาอย่างรอบคอบ และที่สำคัญควรพิจารณาสินค้าเครื่องดื่มน้ำอัดลมในลักษณะของสินค้าที่มีผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่ในลักษณะของสินค้าฟุ่มเฟือย หรือแหล่งรายได้ภาษีที่สำคัญของรัฐ ดังเช่นที่เคยพิจารณากันมาในอดีต

อ้างอิง
Whaples, Robert (2009) “The Policy Views of American Economic Association Members: The Results of a New Survey,” Econ Journal Watch, Vol. 6, pp. 337-348.

*"ภาษีน้ำอัดลม" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 7 ต.ค. 2552

Wednesday, September 2, 2009

โครงการประกันราคาสินค้าเกษตร*

เมื่อวันที่ 27 ส.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้เห็นชอบในหลักเกณฑ์วิธีประกันราคาข้าวเปลือกนาปี 52/53 เช่น ข้าวเปลือกหอมมะลิ และข้าวเปลือก กข .15 ณ ความชื้น 15% ราคาประกันอยู่ที่ตันละ15,300 บาท ซึ่งเป็นราคาที่รวมต้นทุนในการผลิต ต้นทุนขนส่ง และบวกกำไร 30 ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ นาย กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในการประชุมชี้แจงการดําเนินโครงการประกันราคาสินค้าเกษตรว่า โครงการประกันราคาสินค้าเกษตรอาจใช้งบประมาณไม่ต่างจากการรับจำนำที่ผ่านมา แต่โครงการนี้น่าจะส่งผลดีต่อเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ มากกว่าโครงการรับจำนำข้าว ที่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่กลับตกสู่พ่อค้า อีกทั้งยังมีปัญหาการทุจริตเกิดขึ้นอย่างมากมาย โดยโครงการประกันราคา จะเป็นระบบที่ทำให้เกษตรกรไม่ขาดทุน และเป็นการประกันรายได้ขั้นต่ำแก่เกษตรกร

แต่หากพิจารณาตามหลักการของข้อตกลงว่าด้วยการเกษตร (Agreement on Agriculture) ที่บัญญัติขึ้นจากการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบอุรุกวัย ภายใต้การจัดตั้งขององค์กรการค้าโลก (WTO) ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก และมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2538 การประกันราคาข้าว และการประกันรายได้ถือว่ามีความแตกต่างกัน ซึ่งผมขออธิบายพอสังเขปได้ดังนี้

ข้อตกลงว่าด้วยการเกษตร มีวัตถุประสงค์สำคัญในการสร้างระบบการค้าผลิตภัณฑ์การเกษตรที่เป็นธรรมและไม่บิดเบือนกลไกตลาด โดยได้แบ่งแยกมาตรการอุดหนุนภายใน (Domestic support) ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

1. กล่องเขียว (Green Box) เป็นมาตรการอุดหนุนภายในที่ไม่ก่อให้เกิดการบิดเบือนทางการค้าและการผลิต โดยมาตรการในกล่องเขียวได้รับการอนุญาตให้มีได้อย่างไม่จำกัด ตัวอย่างของมาตรการในกลุ่มนี้ ได้แก่ การศึกษาวิจัยและการพัฒนาการเกษตร การอุดหนุนรายได้เกษตรกรโดยตรง (Decoupled income support) ที่ไม่มีความสัมพันธต่อการตัดสินใจผลิตของเกษตรกร

2. กล่องอำพัน (Amber Box) เป็นมาตรการอุดหนุนภายในที่ก่อให้เกิดการบิดเบือนทางการค้า ซึ่งมาตรการจำนำ หรือ มาตรการประกันราคาสินค้าเกษตร ที่มีการกำหนดราคารับจำนำหรือราคาประกันสูงกว่าราคาตลาดโดยปกติ ล้วนสร้างความบิดเบือนทางการค้าเกิดขึ้นด้วยกันทั้งสิ้น เช่น การประกันราคาข้าวในราคาที่สูงเกินราคาตลาด เป็นการเพิ่มผลตอบแทนและช่วยลดความเสี่ยงของเกษตรกรจากการปลูกข้าว ดังนั้นจึงมิใช่เรื่องแปลก หากเกษตรกรส่วนหนึ่งอาจหันมาปลูกข้าว ทดแทนการปลูกสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงสูงกว่า เป็นต้น

มาตรการอุดหนุนในกล่องอำพัน ยังสามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภท คือ หนึ่ง มาตรวัดการอุดหนุนรวม (Total Aggregate Measurement of Support) ซึ่งเป็นมาตรการอุดหนุนภายในที่ก่อให้เกิดการบิดเบือนทางการค้าอย่างมาก โดยมาตรการในกลุ่มนี้ มีข้อผูกพันที่ตกลงไว้ในข้อตกลงว่าด้วยการเกษตรที่แต่ละประเทศจะต้องลดจำนวนของการอุดหนุนลงตามที่ได้กำหนดไว้ และ สอง มาตรการอุดหนุนที่ได้รับข้อยกเว้นไม่ต้องมีข้อผูกพันในการลดจำนวนลง ซึ่งรวมถึง มาตรการอุดหนุนที่ก่อให้เกิดการบิดเบือนตลาดเล็กน้อย (De minimis) และมาตรการอุดหนุนภายในที่จ่ายเงินอุดหนุนโดยตรงแก่เกษตรกร ตามพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้า และไม่เกี่ยวข้องกับปริมาณการผลิตที่เกิดขึ้นจริง แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 85 ของมูลค่าการผลิตที่ใช้เป็นปีฐาน

แม้ว่าโครงการประกันราคาสินค้าเกษตร อาจดูแล้วมีข้อดีกว่าโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรในหลายเรื่องก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งสองโครงการต่างมีลักษณะของการแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตร ที่ก่อให้เกิดการบิดเบือนทางการค้าเกิดขึ้น ทั้งในเรื่องราคาและการตัดสินใจผลิตสินค้าเกษตรของเกษตรกร อีกทั้งไม่เป็นไปตามหลักการของข้อตกลงว่าด้วยการเกษตร ซึ่งพยายามผลักดันให้ทุกประเทศลดมาตรการอุดหนุนภายในที่ก่อให้เกิดการบิดเบือนทางการค้าลง

หากวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของโครงการประกันราคาสินค้าเกษตร คือ การสร้างหลักประกันทางด้านรายได้แก่เกษตรกร และหากภาครัฐต้องการดำเนินนโยบายที่ไม่ก่อให้เกิดการบิดเบือนทางตลาด การอุดหนุนภายในลักษณะอื่นๆ เช่น การอุดหนุนรายได้แก่เกษตรกรโดยตรง ที่ไม่เกี่ยวข้องกับปริมาณการผลิตที่เกิดขึ้น อาจเป็นแนวทางที่เหมาะสมกว่า อีกทั้งยังสอดคล้องตามหลักการของข้อตกลงว่าด้วยการเกษตรที่ประเทศไทยได้มีข้อผูกพันไว้

*"โครงการประกันราคาสินค้าเกษตร" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 2 ก.ย. 2552

Wednesday, August 5, 2009

นโยบายการคลัง กับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ*

หลายหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกประเทศ เริ่มแสดงความคิดเห็นที่เป็นบวกต่อเศรษฐกิจไทย ว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดของวิกฤตการณ์เศรษฐกิจไปแล้ว และจะกลับมาขยายตัวได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ หรือในช่วงต้นปีหน้า บ้างคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียจะฟื้นตัวเป็นรูป V-shape แต่ก็ยังมีนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่ง ที่กลับมองว่าวิกฤตการณ์เศรษฐกิจครั้งนี้ยังไปไม่ถึงจุดต่ำสุด และมีโอกาสที่จะตกต่ำลงไปอีกในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้

นักเศรษฐกิจชื่อดังอย่างนาย Paul Krugman ได้แสดงความเห็นเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยกล่าวว่า เขายังไม่เห็นสัญญานหรือรู้สึกได้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐกำลังกลับมาฟื้นตัวแล้วจริง ทั้งนี้เขายังได้ยืนยันความเห็นเดิมที่เคยกล่าวออกมาก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังอาจต้องใช้เวลาอีกพอสมควรในการฟื้นตัว ถึงแม้ว่าตัวเลขผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GDP) อาจกลับมาขยายตัวเป็นบวก แต่นั่นอาจไม่ได้หมายถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้เกิดขึ้นแล้วจริง โดยวิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้นในอดีตส่วนใหญ่ จะมีช่วงระยะเวลา (อาจค่อนข้างนาน) ที่ผลผลิตมวลรวมได้กลับมาขยายตัวเป็นบวก แต่ตัวเลขอัตราการจ้างงานไม่ได้มีทิศทางที่ดีขึ้น ซ้ำร้ายในหลายเหตุการณ์กลับพบว่ามีทิศทางที่แย่ลงกว่าเดิม ซึ่งแสดงถึงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนั้นยังไม่ได้จบสิ้น

เราคงต้องยอมรับว่า ในเมื่อมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ที่มีต่อวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในครั้งนี้ยังมีความแตกต่างกันอยู่มาก จึงไม่ใช่เรื่องง่ายในปัจจุบัน หากเราต้องการจะตัดสินหรือหาข้อสรุปในประเด็นต่างๆ เช่น ปัจจุบันประเทศไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดของวิกฤตการณ์ไปแล้วหรือยัง หรือ ต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่ที่ประเทศจะผ่านพ้นปัญหาวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปได้

ผมได้อ่านบทความวิชาการหนึ่งของ IMF(1) ที่พึ่งออกมาเมื่อช่วงปลายเดือนที่แล้ว ซึ่งมีความน่าสนใจ แม้ว่าจะไม่สามารถตอบคำถามต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นได้โดยตรง แต่ผลของการศึกษาที่ออกมายืนยันความเชื่อของนักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งที่มีต่อการใช้นโยบายการคลัง โดยบทความที่กล่าวถึงนี้ ได้ศึกษาถึงผลหรือประสิทธิภาพของการใช้นโยบายการคลังที่มีต่อการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากสถาบันการเงินในอดีต (ช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1980-2008) โดยพิจารณาทั้งผลที่มีต่อการลดระยะเวลาของวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ และผลที่มีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะกลาง

ผลจากการศึกษาพบว่า การใช้นโยบายการคลัง เช่น การเพิ่มรายจ่ายภาครัฐ สามารถช่วยลดระยะเวลาของประเทศที่ตกอยู่ในวิกฤตการณ์เศรษฐกิจลงได้จริง โดยเมื่อเปรียบเทียบผลของการเพิ่มรายจ่ายภาครัฐระหว่างรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนพบว่า การเพิ่มรายจ่ายประจำของภาครัฐ มีประสิทธิภาพที่สูงกว่าการเพิ่มรายจ่ายลงทุน เมื่อพิจารณาถึงการลดเวลาของวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งนับเป็นผลของการใช้นโยบายการคลังที่มีในการแก้ไขปัญหาระยะสั้น

เมื่อพิจารณาถึงผลของการใช้นโยบายการคลังที่มีในระยะกลางกลับพบว่า การเพิ่มการรายจ่ายประจำของภาครัฐไม่มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะกลาง ในขณะที่การเพิ่มรายจ่ายลงทุนของภาครัฐ ส่งผลบวกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะกลางได้ ผลที่พบในส่วนนี้ ชี้ให้เห็นถึงการได้อย่างเสียอย่าง (Trade-off) ระหว่างการใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น และเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะกลาง

งานศึกษานี้ยังพบว่า ผลหรือประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายทางการคลังนั้น ยังขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ เช่น เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และภาระทางการคลัง ซึ่งรวมถึง Fiscal space (งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่เหลืออยู่ ภายหลังจากการตัดรายจ่ายที่ไม่สามารถตัดลดได้) ของประเทศ โดยประเทศที่ขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และมีระดับหนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูง การดำเนินนโยบายการคลังเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์เศรษฐกิจจะเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งประเทศต้องตกอยู่ในวิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่ยาวนาน เมื่อเทียบกับประเทศที่มีภาระทางการคลังที่น้อยกว่า หรือมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า

โดยสรุปแล้ว ผลของงานศึกษาชิ้นนี้ได้ยืนยันความเชื่อของนักเศรษฐศาสตร์การคลังที่แสดงถึงความจำเป็น ที่ภาครัฐจะต้องรักษากรอบวินัยทางการคลังและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้ได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ภาครัฐยังจำเป็นต้องพิจารณาถึงการได้อย่างเสียอย่างระหว่างนโยบายการคลังที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น กับนโยบายที่ใช้สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว

อ้างอิง
(1) Baldacci, E., S. Gupta, and C. Mulas-Granados, 2009, “How Effective is Fiscal Policy Response in Systemic Banking Crises?” IMF Working Paper 09/160.

*"นโยบายการคลัง กับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 5 ส.ค. 2552

Wednesday, July 1, 2009

จุดเสี่ยงของความสูญเสียกรอบวินัยทางการคลัง*

ถึงแม้ที่ประชุมวุฒิสภาได้มีมติผ่าน พ.ร.ก เงินกู้ 4 แสนล้านบาทไปแล้ว แต่ พ.ร.ก เงินกู้ฉบับนี้ยังมีข้อกังวลและข้อสงสัยอยู่หลายเรื่องที่ยังไม่ได้รับการชี้แจงอย่างชัดเจน ซึ่งอาจส่งผลต่อการรักษากรอบวินัยทางการคลังของประเทศได้ในระยะยาว เช่น

การที่กฏหมายจะอนุญาติให้มีการตราพระราชกำหนด ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพิ่มเติมเกินจากเพดานการกู้เงินที่กำหนดไว้โดยปกติ (เช่น ในส่วนของการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ สามารถกู้ได้ไม่เกินร้อยละยี่สิบของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และร้อยละแปดสิบของงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้สำหรับชำระคืนเงินต้น) ในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วน แต่กลับไม่มีการนิยามที่ชัดเจนว่าเหตุการณ์ในลักษณะใดที่ถือว่าเป็นกรณีฉุกเฉิน รัฐบาลต่อไปในอนาคตจึงอาจใช้ช่องโหว่ดังกล่าวในการขออนุญาติกู้เงินพิเศษเพิ่มเติม ทั้งที่อาจไม่ได้เป็นกรณีฉุกเฉินจริง ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการสูญเสียกรอบวินัยทางการคลังของประเทศที่ควรต้องรักษาไว้

Prof. William A. Niskanen นักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในเรื่องเศรษฐศาสตร์ทางเลือกสาธารณะ (Public choice school) ได้เคยเสนอไว้ในปี ค.ศ. 1971 ถึงพฤติกรรมของรัฐบาลหรือหน่วยราชการ ที่อาจมีเหตุผลหรือแรงจูงใจ (Rationale) ของตนเอง ในการจัดทำงบประมาณให้มีรายจ่ายสูงสุด (Budget Maximizing) เพราะงบประมาณรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น ย่อมหมายถึงความสามารถในการใช้จ่ายของภาครัฐที่สูงขึ้น และช่วยเพิ่มโอกาสของรัฐบาลที่จะได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนในการเลือกตั้งครั้งถัดไป

ประเทศจึงไม่สามารถหวังพึ่งหรือเชื่อว่า รัฐบาลหรือหน่วยราชการจะเลือกดำเนินนโยบายที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศสูงสุด การสร้างและกำหนดกรอบวินัยทางการคลังของประเทศที่ชัดเจนและรัดกุม จะช่วยป้องกันและลดโอกาสที่รัฐบาลหรือหน่วยราชการต่างๆ จะแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเอง โดยจัดทำงบประมาณรายจ่ายสูงกว่าที่ควรจะเป็น ปัญหานี้จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น สำหรับประเทศที่รัฐบาลยังขาดเสถียรภาพและความมั่นคงในการบริหารประเทศ ซึ่งรัฐบาลอาจไม่ให้ความสำคัญต่อการรักษากรอบวินัยทางการคลังของประเทศในระยะยาว

การออก พ.ร.ก หรือ พ.ร.บ. กู้เงินในครั้งนี้ ยังขาดการนำเสนอถึงวิธีการชำระคืนเงินกู้ของภาครัฐที่ชัดเจน ซึ่งจะแสดงถึงผลกระทบหรือความรับผิดชอบของประเทศที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว รัฐบาลที่เข้ามาอาจใช้วิธีการ Roll over หรือการกู้เงินใหม่เพื่อชำระคืนเงินกู้ที่ถึงกำหนดครบชำระ ซึ่งเป็นการผลักภาระเงินกู้และปัญหาไปสู่คนรุ่นหลังถัดไปเรื่อยๆ แต่ด้วยโครงสร้างของประชากรในประเทศต่างๆ กำลังเดินไปสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) สัดส่วนของประชากรผู้เกษียณอายุกำลังปรับเพิ่มสูงขึ้น งบประมาณที่ภาครัฐต้องจัดเตรียมไว้เพื่อจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมต่างๆ มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่รายรับของภาครัฐอาจไม่ปรับเพิ่มขึ้นมาก (หากภาครัฐไม่ต้องการปรับขึ้นอัตราภาษี) และเนื่องด้วยโครงสร้างประชากรที่อยู่ในวัยทำงานลดน้อยลง ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ แต่นับเป็นเรื่องแปลกที่ปัจจัยเหล่านี้กลับไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาก่อนที่รัฐบาลจะดำเนินการกู้ยืมเงินในครั้งนี้ ดังนั้นจึงเป็นที่น่าสงสัยว่า รัฐบาลจะใช้วิธีใดในการชำระคืนเงินกู้ ถ้าไม่สามารถ Roll over หนี้สาธารณะไปเรื่อยๆ

หากภาครัฐได้กำหนดเป้าหมายในการชำระเงินกู้โดยใช้วิธีการปรับลดรายจ่ายภาครัฐในอนาคต ลักษณะของงบประมาณรายจ่ายของภาครัฐส่วนในปัจจุบันส่วนใหญ่แล้วเป็นรายจ่ายประจำ (ประมาณร้อยละ 70) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายเงินเดือน ในขณะที่งบประมาณรายจ่ายประมาณลงทุนมีประมาณร้อยละ 25 ซึ่งนับว่ามีสัดส่วนค่อนข้างต่ำ การปรับลดในส่วนของรายจ่ายลงทุนจึงดูเป็นทางเลือกที่ดูไม่เหมาะสมนัก เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศในระยะยาว

หนทางที่เหลืออยู่อาจเป็นการปรับลดงบประมาณในส่วนของรายจ่ายประจำลงจากเดิม ซึ่งจะต้องเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้กับการปรับลดขนาดของหน่วยราชการให้เล็กลง และเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานให้สูงขึ้น แต่รัฐบาลจำเป็นต้องมีแผนและวิธีการดำเนินการที่ชัดเจน ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว มิฉะนั้นแล้ว การปรับลดขนาดของหน่วยราชการลงก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ด้วยเหตุเหล่านี้ การนำเสนอถึงวิธีหรือแผนการชำระคืนเงินกู้ที่ชัดเจน จึงเป็นเรื่องสำคัญและมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง รัฐบาลควรมีการชี้แจงที่ชัดเจน มิใช่ปล่อยให้ประชาชนรุ่นหลังต้องรับภาระโดยปราศจากการเตรียมตัวหรือแผนรองรับดังที่เป็นอยู่ในเวลานี้

*"จุดเสี่ยงของความสูญเสียกรอบวินัยทางการคลัง" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 1 ก.ค. 2552

Wednesday, June 3, 2009

ทางออกของการชดเชยการขาดดุลภาครัฐ?*

หากเป็นไปตามที่กำหนดไว้ วันนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินคดีการออก พ.ร.ก. กู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจจำนวน 400,000 ล้านบาทของรัฐบาลว่าสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งทุกท่านคงทราบดีว่า พ.ร.ก. กู้เงินฉบับนี้มีความสำคัญมากต่อรัฐบาล ที่จะต้องรีบหาเงินส่วนหนึ่งไปชดเชยงบประมาณที่ตั้งไว้ รวมทั้งนำไปเพิ่มสภาพคล่องทางการคลัง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลกำลังเผชิญอยู่

การจัดทำงบประมาณของภาครัฐที่ผ่านมา เป็นการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล (ยกเว้นบางปี ที่มีการตั้งงบประมาณสมดุลบ้าง เช่น ปี พ.ศ. 2548) การกู้เงินของรัฐบาลที่เกิดขึ้น เป็นหนึ่งในแนวทางของการชดเชยการขาดดุลของรัฐบาล (Deficit finance) ที่สามารถทำได้ แต่ทั้งนี้ ยังมีแนวทางอื่นๆ ที่สามารถชดเชยการขาดดุลได้ เช่น

หนึ่ง การจัดทำงบประมาณแบบเกินดุลในช่วงภาวะเศรษฐกิจดี (ช่วงของการออมเงิน) และจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี (ช่วงที่ต้องใช้จ่าย เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ) หากยึดหลักการนี้ การจัดทำงบประมาณของภาครัฐจะมีลักษณะสมดุลในระยะยาว ซึ่งจะไม่สร้างภาระหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น

แต่ที่ผ่านมา การจัดทำงบประมาณไม่เป็นไปตามแนวทางดังกล่าว ยิ่งในช่วงที่การเมืองยังขาดเสถียรภาพ ที่อายุของแต่ละรัฐบาลที่เข้ามาค่อนข้างสั้นด้วยแล้ว รัฐบาลส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญอย่างแท้จริงกับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินและการคลังของประเทศในระยะกลางและระยะยาว แต่กลับมุ่งจัดทำงบประมาณรายจ่ายในช่วงที่ได้เข้ามารับผิดชอบให้มากเท่าที่จะทำได้ (ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายต่อสถานะการคลังของประเทศในระยะยาว) ดังนั้น การจัดทำงบประมาณของภาครัฐที่ผ่านมาส่วนใหญ่ จึงเป็นการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจดีหรือไม่ดีก็ตาม การชดเชยการขาดดุลโดยนำเงินออมมาใช้ จึงไม่ใช่ทางเลือกที่มีอยู่ในปัจจุบัน

สอง การจัดหารายได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้รายได้หลักของภาครัฐมาจากการเก็บภาษี การปรับปรุงระบบภาษี จะสามารถช่วยให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ได้พยายามผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษี เช่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน เป็นต้น แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ภาษีที่เป็นรายได้หลักของรัฐบาล ทั้งภาษีรายได้และภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บโดยกรมสรรพากร กลับไม่ได้อยู่ในความสนใจเท่าที่ควร

สำหรับภาษีรายได้ การปรับเพิ่มอัตราภาษีไม่ว่าจะเป็นภาษีรายได้นิติบุคคล และภาษีรายได้บุคคลธรรมดา คงไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย หรือเหมาะสมมากนัก เนื่องจากมีผลโดยตรงต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อีกทั้งยังอาจเพิ่มการบิดเบือนพฤติกรรม (ตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์) ที่นำไปสู่การลดลงของสวัสดิการสังคม (Welfare)

การปรับปรุงภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีการบริโภค (Consumption tax) เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ และเป็นไปตามหลักการของเศรษฐศาสตร์นโยบายสาธารณะ อีกทั้งมีโอกาสที่จะเพิ่มรายได้ที่รัฐจัดเก็บได้มากขึ้นอย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่เมื่อรัฐบาลยังต้องการรักษาคะแนนเสียงหรือความนิยมจากประชาชนอยู่ จึงมิใช่เรื่องแปลก ที่รัฐบาลส่วนใหญ่ไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับการปรับเพิ่มอัตราภาษีที่มีผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ แม้นว่าอาจเป็นสิ่งที่เหมาะสมก็ตาม ดังนั้นในการปรับเปลี่ยนระบบภาษีที่เกิดขึ้น จึงเป็นไปได้อย่างจำกัดและไม่เพียงพอต่อการชดเชยการขาดดุลของภาครัฐ

สาม การก่อหนี้สาธารณะของรัฐบาล (ไม่ว่าจะเกิดจากการกู้ยืมเงินภายในหรือภายนอกประเทศก็ตาม) ซึ่งมีลักษณะที่ไม่ต่างจากการก่อหนี้ของบุคคลทั่วไป ที่เป็นการหยิบยืมเงินในอนาคตมาใช้ก่อน โดยการกู้ยืมเงินนั้น เมื่อถึงกำหนดครบชำระ ผู้กู้ก็จำเป็นต้องหาเงินต้นมาชำระคืนเงินต้น พร้อมดอกเบี้ย ทั้งนี้แม้นว่ารัฐบาลจะเป็นผู้กู้ ก็ตาม แต่สุดท้ายผู้ชำระหนี้ที่แท้จริงกลับเป็นประชาชนของประเทศ

หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นไม่ว่าจะจำนวน 400,000 หรือ 800,000 ล้านบาท ย่อมหมายถึง ภาระหนี้สินที่คนไทยทุกคนต้องแบกรับและมีภาระที่ต้องจ่ายคืนในอนาคตกำลังพอกพูนเพิ่มขึ้น ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่อาจไม่ตระหนักหรือให้ความสำคัญในเรื่องนี้เท่าไหร่นัก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการขาดความเข้าใจในเรื่องหนี้สาธารณะที่ถูกต้อง (เพราะดูเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก) หรือการขาดข้อมูลที่ครบถ้วน (เช่น คนไทยจะต้องจ่ายหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ด้วยวิธีการอย่างไร และต้องชำระเมื่อไหร่ เป็นต้น) ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ ที่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่ออกมานั้น ประชาชนส่วนใหญ่จึงเห็นด้วยและสนับสนุนกับการออก พ.ร.ก. กู้เงินของภาครัฐ แต่หากประชาชนมีข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์ ผลที่ได้จากการสำรวจความคิดเห็นอาจมีความแตกต่างจากที่พบในเวลานี้เป็นอย่างมาก

เมื่อรัฐบาลไม่ต้องการปรับลดรายจ่ายซึ่งมีจำนวนที่มากกว่ารายรับที่หาได้ อีกทั้งไม่มีเงินออม สุดท้ายรัฐบาลจึงใช้แนวทางในการกู้เงินมาใช้ ซึ่งเป็นการผลักภาระความรับผิดชอบต่อปัญหาที่มีในปัจจุบันไปยังอนาคต ซึ่งประชาชนรุ่นหลังจะต้องรับผิดชอบ ในเรื่องของการก่อหนี้สาธารณะ ยังมีประเด็นต่างๆ ที่สำคัญและน่าสนใจอีกหลายเรื่อง ซึ่งโอกาสถัดไปผู้เขียนจะนำเสนอต่อในส่วนนี้

*"ทางออกของการชดเชยการขาดดุลภาครัฐ?" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 3 มิ.ย. 2552

Wednesday, May 6, 2009

วิกฤตการณ์เศรษฐกิจ กับระดับหนี้สาธารณะของประเทศ*

ปัญหาวิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รัฐบาลโดยเฉพาะของประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้แสดงถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ทั้งการใช้นโยบายทางการเงินและนโยบายการคลังอย่างเต็มที่ เพื่อมิให้กลับไปซ้ำรอยกับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1930 (หรือที่ถูกเรียกว่า The Great Depression) ซึ่งเป็นไปอย่างยืดเยื้อและยาวนาน

สำหรับนโยบายการเงิน ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ทั้งในประเทศญี่ปุ่น อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ได้ใช้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนเหลือเพียงร้อยละ 0.5 หรือต่ำกว่า ซึ่งแทบไม่เหลือให้ปรับลดได้อีกในอนาคต จึงนับว่ามีความแตกต่างอย่างชัดเจนกับในช่วง The Great Depression ที่อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาในช่วงสองปีแรกที่เกิดวิกฤตการณ์ ยังอยู่ในระดับสูงที่ประมาณร้อยละ 4 ถึง 6 ซึ่งยังสามารถปรับลดลงได้อีกมาก

เมื่อเครื่องมือทางการเงินที่เหลืออยู่ในปัจจุบันถูกจำกัดลง รัฐบาลของประเทศต่างๆ จึงหันมาใช้นโยบายการคลัง โดยเฉพาะในส่วนของการเพิ่มงบประมาณรายจ่าย จากการตั้งงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้น ซึ่งข้อมูลที่ออกมาจาก IMF เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในรายงานมุมมองเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ที่มีเนื้อหาหลักในเรื่องวิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และการฟื้นตัว (Crisis and Recovery) ในส่วนของการคาดการณ์สถานะดุลการคลังของประเทศต่างๆ พบว่า ดุลงบประมาณของรัฐบาลในประเทศที่พัฒนาแล้วโดยเฉลี่ย กำลังขาดดุลถึงประมาณร้อยละ 9 ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนามีดุลงบประมาณขาดดุลเพียงประมาณร้อยละ 4 ของ GDP

เมื่อพิจารณาถึงสัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศ พบว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากที่ระดับประมาณร้อยละ 75 ของ GDP ในปีที่ผ่านมา จะพุ่งสูงขึ้นจนเกือบถึงร้อยละ 110 ของ GDP ในปี 2014 แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา สัดส่วนหนี้สาธารณะยังสามารถรักษาระดับที่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ไว้ได้

การคาดการณ์ของ IMF ในรายงานฉบับนี้ เป็นการคาดการณ์ภายใต้สมมติฐานแบบปกติ ที่ไม่นับรวมปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น หากปัญหาวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในครั้งนี้ เป็นไปอย่างยืดเยื้ออย่างยาวนาน หรือ หากอัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น เป็นต้น โดยในรายงานของ IMF ที่ออกมาก่อนหน้านี้ในเดือนมีนาคม ได้นำปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้มารวมในการวิเคราะห์ ผลที่ได้พบว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของประเทศที่พัฒนาแล้วในกลุ่ม G20 อาจสูงถึงร้อยละ 140 ซึ่งนับเป็นสัดส่วนที่สูง และควรถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด

หากนำสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของสหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 60 มาเปรียบเทียบกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต พบว่า ในช่วง the Great Depression สัดส่วนหนี้สาธารณะของสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 19 ในปี ค.ศ. 1929 จนถึงประมาณร้อยละ 40 ในช่วงระหว่างปี 1933-38 นอกจากนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะของสหรัฐอเมริกายังเคยขึ้นสูงถึงร้อยละ 121 ในปี ค.ศ. 1946 ซึ่งเป็นช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 2 พึ่งสิ้นสุดลง ผลที่พบชี้ให้เห็นว่า

1. สหรัฐอเมริกา ได้เริ่มต้นในการแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์เศรษฐกิจในครั้งนี้ โดยใช้นโยบายการคลัง (และนโยบายการเงิน) มากขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบกับที่เคยใช้ในช่วง the Great Depression

2. สหรัฐอเมริกายังมีโอกาสในการใช้นโยบายการคลังได้อีกมาก เมื่อพิจารณาระหว่างสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกับระดับสูงสุดที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิลในปีที่ผ่านมาอย่าง นายพอล ครุกแมน (Paul Krugman) ได้กล่าวตอกย้ำถึงประเด็นนี้ในการบรรยายพิเศษที่มหาวิทยาลัย Princeton เมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา

แต่ทั้งนี้ เมื่อประเทศต่างๆ มีขีดความสามารถในการชำระหนี้ (ทั้งหนี้สาธารณะและหนี้เอกชน) ที่แตกต่างกัน ประเทศไทยก็ไม่สามารถยึดแนวทาง (ระดับหนี้สาธารณะ) เดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาได้ หากประเทศมีระดับหนี้สาธารณะมากจนเกินไป ก็อาจนำไปสู่ปัญหาวิกฤตการณ์เศรษฐกิจครั้งใหม่ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีตกับหลายๆ ประเทศ สำหรับบทความถัดไป ผู้เขียนจะนำเสนอบทเรียนในอดีตที่เคยเกิดขึ้น และประเด็นต่างๆ ทางเศรษฐศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารหนี้สาธารณะของประเทศ

แผนภาพ: สถานะการคลังและหนี้สาธารณะและการคาดการณ์
(หน่วย: ร้อยละของ GDP)



ที่มา: IMF World Economic Outlook, April-2009

*"วิกฤตการณ์เศรษฐกิจ กับระดับหนี้สาธารณะของประเทศ" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 6 พ.ค. 2552

Wednesday, April 1, 2009

แผนการกอบกู้เศรษฐกิจครั้งใหม่ของสหรัฐอเมริกา*

เมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ได้มีการนำเสนอแผนกอบกู้เศรษฐกิจครั้งใหม่จากฟากฝั่งของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ชื่อว่า โครงการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Investment Program หรือ PPIP) ซึ่งสร้างความฮือฮาและได้รับการตอบรับจากนักลงทุนสหรัฐเป็นอย่างมาก โดยตลาดหุ้นสหรัฐได้พุ่งทะยานขึ้นทันทีเกือบ 500 จุด ตอบรับแผนที่นำเสนอในครั้งนี้โดยคุณ Timothy Geithner รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐ (ผู้อ่านหลายท่านอาจไม่ทราบมาก่อนว่า คุณ Timothy Geithner ผู้นี้จะรู้จักประเทศไทยเป็นอย่างดีมาก เพราะท่านสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายจากโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยของเรานี้เอง)

โครงการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนที่ถูกนำเสนอออกมา มีมูลค่าโครงการรวมถึงกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องที่เกิดขึ้นในระบบการเงินสหรัฐ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการที่สถาบันการเงินสหรัฐ ต้องแบกรับภาระหนี้เสียที่เกิดขึ้นจากการปล่อยสินเชื่อที่มากเกินไปหรือหละหลวมในอดีต ทั้งนี้ขอบเขตของหนี้เสีย (Legacy assets) ได้รวมถึงหนี้เสียที่เกิดจากการปล่อยกู้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในธนาคารพาณิชย์ (Legacy loans) และหนี้เสียของตราสารหนี้ที่อยู่ในตลาดทุน (Legacy securities)

โดยปัจจุบัน สถาบันการเงินในสหรัฐกำลังเผชิญกับปัญหาจากการที่ไม่สามารถขายหนี้เสียเหล่านี้ได้ ทั้งนี้เนื่องจาก หนึ่ง ราคาสินทรัพย์ได้ปรับลดลงเป็นอย่างมาก จนสถาบันการเงินไม่อยากขายสินทรัพย์ในราคาปัจจุบันที่ขาดทุนมาก และ สอง ความไม่แน่นอนในสภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ทำให้การลงทุนในปัจจุบันมีความเสี่ยงสูง นักลงทุนไม่กล้าที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดในช่วงนี้ เมื่อสถาบันการเงินไม่สามารถขายหนี้เสียเหล่านี้ออกไปได้ ย่อมส่งผลต่อความมั่งคงหรือสถานะทางการเงิน ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนใหม่ สุดท้ายย่อมส่งผลต่อความสามารถในการปล่อยกู้ และสภาพคล่องในระบบการเงินสหรัฐ

สำหรับหลักการของโครงการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนที่คุณ Timothy Geithner นำเสนอในครั้งนี้ สามารถสรุปได้โดยสังเขปดังนี้ (เฉพาะในส่วนของหนี้เสียที่ถือโดยธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงิน หรือที่เรียกว่า Legacy Loans Program)

ขั้นที่หนึ่ง ธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินที่ต้องการนำหนี้เสียมาขาย จะต้องแสดงความประสงค์ต่อ สถาบันประกันเงินฝากของสหรัฐ (Federal Deposit Insurance Corporation หรือ FDIC) หาก FDIC เห็นชอบ ก็จะอนุมัติในหลักการที่จะยินดีปล่อยกู้แก่นักลงทุนที่เข้าซื้อหนี้เสียเหล่านี้ โดยมีสัดส่วนการให้กู้ยืมเงินไม่เกิน 6 ส่วนต่อเงินทุน 1 ส่วน หรือกล่าวคือนักลงทุนจะต้องนำเงินมาลงทุนประมาณ 1 ใน 7 หรือประมาณ 14.3% ของมูลค่าสินทรัพย์ที่เข้าซื้อทั้งหมด

ขั้นที่สอง ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของโครงการนี้คือ การใช้วิธีการประมูล โดยให้นักลงทุนแข่งขันเสนอราคาซื้อหนี้เสียที่เหมาะสม เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ภาครัฐต้องเข้าไปซื้อหนี้เสียเหล่านี้ในราคาที่สูงเกินจริง

ขั้นที่สาม เมื่อตัดสินได้ผู้ชนะการประมูลแล้ว FDIC จะปล่อยเงินกู้แก่นักลงทุนที่ได้ในสัดส่วนการให้กู้ยืมเงินสูงสุด 6 ส่วนต่อเงินทุน 1 ส่วน ดังที่กล่าวในขั้นที่สอง

ขั้นที่สี่ ในส่วนของเงินทุน 1 ส่วนที่เหลือนั้น (หรือประมาณ 14% ของมูลค่าสินทรัพย์) กระทรวงการคลังของสหรัฐจะเข้ามาเป็นผู้ลงทุนร่วมกับภาคเอกชน ฝ่ายละครึ่ง ซึ่งหมายความถึง การซื้อหนี้เสียของภาคเอกชนในครั้งนี้ นักลงทุนจะต้องควักเงินตนเองในการซื้อเพียงแค่ 7% ของมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมด โดยนักลงทุนหรือภาคเอกชนจะเป็นผู้บริหารสินทรัพย์เหล่านี้ ภายใต้การกำกับดูแลโดย FDIC

แม้นว่าโครงการนี้จะมีจุดเด่นในจากการใช้กลไกตลาด ผ่านวิธีการประมูลในการประเมินมูลค่าหนี้เสียที่สถาบันการเงินถืออยู่ และสามารถเพิ่มการลงทุนของภาคเอกชนได้จากการอุดหนุนการลงทุนโดยภาครัฐ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนของภาคเอกชน แต่กลับมีข้อสังเกตที่ต้องพึงระวังอยู่หลายประการด้วยกัน เช่น

- การอุดหนุนของภาครัฐในสัดส่วนที่สูงเกินไปเช่นนี้ ได้ผลักภาระความเสี่ยงจากการลงทุนเกือบทั้งหมดไปยังประชาชนสหรัฐโดยไม่รู้ตัว ดังที่เห็นได้จากสัดส่วนเงินลงทุนที่มาจากภาคเอกชนโดยตรงมีค่อนข้างน้อยมาก (7%) เมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนเงินลงทุนที่รัฐบาลสนับสนุน (93%) ซึ่งเงินเหล่านี้มาจากเงินภาษีของประชาชน เมื่อความเสี่ยงของการลงทุนที่เกิดขึ้นกับภาคเอกชนต่ำเกินปกติ นักลงทุนอาจตัดสินใจลงทุนโดยขาดการพิจารณาอย่างรอบคอบ และอาจเป็นการเก็งกำไรในสินทรัพย์แทน ซึ่งหากการลงทุนที่เกิดขึ้นล้มเหลว ผู้ที่แบกรับภาระขาดทุนทั้งเกือบหมดกลับเป็นประชาชนสหรัฐนั่นเอง

- ภายใต้หลักการของโครงการนี้ รัฐอาจต้องเข้าไปอุดหนุนการลงทุนจนมากเกินความจำเป็น โดยหนี้เสียที่มีคุณภาพดีและไม่จำเป็นที่จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่ด้วยนโยบายที่ใจดีมากเช่นนี้ อาจทำให้นักลงทุนขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลโดยไม่มีความจำเป็น

นอกจากนี้ยังอาจก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น ปัญหา Adverse Selection และปัญหา Moral Hazard ซึ่งขออนุญาตไม่กล่าวถึง ณ ที่นี้

ดังนั้น แม้นว่าโครงการที่นำเสนอในครั้งนี้จะดูดีและสามารถใช้ในการกระตุ้นการลงทุนได้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้ว อาจสร้างปัญหาใหญ่ทั้งต่อเสถียรภาพของระบบการคลังและระบบเศรษฐกิจของสหรัฐ ซึ่งหากหน่วยงานหรือภาครัฐของไทยสนใจที่จะนำแนวทางของโครงการนี้มาใช้ ก็จำเป็นที่จะต้องศึกษาและพิจารณาอย่างรอบคอบถึงปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาต่อประเทศในระยะยาว

*"แผนการกอบกู้เศรษฐกิจครั้งใหม่ของสหรัฐอเมริกา" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 1 เม.ย. 2552

Wednesday, March 4, 2009

ผลทวีคูณของการใช้จ่ายภาครัฐ (Multiplier effect of government spending)*

รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ใช้นโยบายการคลังเป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว ทั้งการแจกเงิน 2,000 บาท (ซึ่งเป็นการโอนรายได้จากภาครัฐกลับไปสู่ภาคประชาชนโดยตรง) การลดภาษีสำหรับการซื้อบ้าน การเพิ่มรายจ่ายภาครัฐ รวมถึงการกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่

เมื่อพิจารณาถึงมาตรการที่ได้ออกมาพบว่า ส่วนหนึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญที่จะเพิ่มอุปสงค์ (Demand) หรือความต้องการบริโภคสินค้า เพื่อกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งวัดโดยผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) โดยมีสมมติฐานที่สำคัญคือ เงินที่ภาครัฐใช้จ่ายจะเปลี่ยนเป็นรายได้ของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นผู้ขายสินค้าหรือบริการที่ภาครัฐเข้าไปซื้อ เมื่อคนกลุ่มนี้ได้รับเงินจากการใช้จ่ายของภาครัฐ จะนำเงินไปใช้จ่ายต่อในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนหรือเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และทำให้ภาคเศรษฐกิจขยายตัว

หากการขยายตัวของภาคทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น มีมูลค่ามากกว่าเงินที่ภาครัฐใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในตอนแรก ในกรณีนี้จะเป็นไปตามสมมติฐานที่ภาครัฐตั้งไว้ ที่การเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้เมื่อนำผลผลิตมวลรวมที่เพิ่มขึ้นมาหารด้วยรายจ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้นในตอนแรก สัดส่วนที่ได้เรียกว่า “ผลทวีคูณของการใช้จ่ายภาครัฐ” หรือ “Multiplier effect of government spending”

การศึกษาถึงผลทวีคูณของการใช้จ่ายภาครัฐ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนดนโยบายในแต่ประเทศ ในกรณีที่ผลทวีคูณของประเทศที่ทำการศึกษามีค่ามากกว่าหนึ่ง สมมติว่ามีค่าเท่ากับสอง ย่อมชี้ให้เห็นว่า การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของภาครัฐ 1 บาท กระตุ้นให้ผู้คนหันมาบริโภคสินค้าและบริการกันมากขึ้น (Crowding-in effect) ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 2 บาท ซึ่งมากกว่าเงินที่ภาครัฐใช้จ่ายในตอนแรก

ในทางกลับกัน หากผลทวีคูณที่พบมีค่าน้อยกว่าหนึ่ง สมมติว่ามีค่าเป็นศูนย์ ย่อมหมายถึง เงินที่ภาครัฐใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 1 บาทนั้น มีผลให้เกิดการหักล้างหรือลดการใช้จ่ายของภาคเอกชนหรือผู้บริโภค (Crowding-out effect) ซึ่งในกรณีนี้ การใช้จ่ายของภาครัฐนอกจากจะไม่สามารถกระตุ้นระบบเศรษกิจ แต่ซ้ำร้ายไปแทนที่การบริโภคภายในประเทศ ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ ปกติแล้วการใช้จ่ายของภาครัฐ ถือว่ามีประสิทธิภาพน้อยกว่าการใช้จ่ายของภาคเอกชน

ศาสตราจารย์ โรเบิรต์ แบรโร (Robert J. Barro) นักเศรษฐศาสตร์มหภาคที่มีชื่อเสียง และเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย Harvard ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาถึงผลทวีคูณ (Multiplier effect) ของการใช้จ่ายของภาครัฐที่มีต่อระบบเศรษฐกิจสหรัฐ ผลการศึกษาที่ได้พบว่า ในภาวะปกติ (ในช่วงที่ประเทศไม่ได้อยู่ในภาวะสงคราม) การใช้จ่ายของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่มีผลกระทบใดๆ ที่มีนัยสำคัญทางสถิติต่อระบบเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งวัดโดยผลผลิตมวลรวมภายในประเทศเลยแม้แต่น้อย นั่นคือผลทวีคูณที่พบมีค่าไม่แตกต่างจากศูนย์นั่นเอง ผลที่ได้จากการศึกษาชี้ว่าการใช้จ่ายของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นมานั้น แท้จริงแล้วมีผลให้เกิดการหักล้างการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่ควรจะเกิดขึ้น

แต่นั่นแหละครับ คงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ ที่ผลการศึกษาของนักวิชาการที่มีชื่อเสียงท่านนี้ กลับไม่นิยมถูกอ้างอิง หรือถูกละเลยไป เพราะผลจากการศึกษาที่ได้คงไม่ถูกใจใครหลายๆ ท่าน โดยเฉพาะกับผู้กำหนดนโยบาย ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนเหล่านั้นที่เชื่อว่า นโยบายการคลัง โดยเฉพาะการเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐ สามารถกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้

แม้ว่าผลของการศึกษาที่พบ จะไม่ชี้ว่าการใช้จ่ายของภาครัฐสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้จริง แต่ทั้งนี้มิได้หมายถึง นโยบายการคลัง (โดยเฉพาะในส่วนการใช้จ่ายของภาครัฐ) จะไม่มีความสำคัญ การใช้จ่ายของภาครัฐยังถือว่ามีความจำเป็น โดยเฉพาะกับโครงการที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เองโดยปกติ แต่หลักเกณฑ์ในการพิจารณาจะต้องขึ้นกับความคุ้มค่าของโครงการเป็นหลัก หากโครงการใดเมื่อพิจารณาแล้วคุ้มค่า และสังคมได้รับประโยชน์มากกกว่าเงินที่ภาครัฐต้องจ่ายไป โครงการเหล่านี้ควรได้รับการสนับสนุนให้เกิดขึ้นอย่างเต็ม แต่ไม่ใช่ด้วยเหตุผลของการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

สิ่งที่รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ควรกลับมาทบทวนอย่างจริงจังกับการออกนโยบายที่ผ่านมา รวมถึงที่กำลังจะออกต่อไปในอนาคต รัฐบาลควรเปลี่ยนจากการดำเนินนโยบายหรือมาตรการที่มุ่งเน้นการเพิ่มอุปสงค์ในระยะสั้น มาเป็นนโยบายที่สร้างแรงจูงใจให้ผู้คนและภาคธุรกิจเกิดความต้องการทำงานหรือลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเพิ่มอุปทาน (Supply) ของตลาดได้ในระยะยาว เช่น การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลง หรือแม้นกระทั้ง การอนุญาตให้ภาคธุรกิจสามารถหักค่าเสื่อมจากการลงทุนได้มากขึ้นและเร็วขึ้น เป็นต้น มาตรการเหล่านี้ไม่เพียงจูงใจให้ภาคธุรกิจเกิดการลงทุนและจ้างงานเพิ่มขึ้น แต่ที่สำคัญยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยได้ในระยะยาว

*"ผลทวีคูณของการใช้จ่ายภาครัฐ" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 4 มี.ค. 2552

Wednesday, February 4, 2009

นโยบายการคลัง กระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือ?*

ภายในเวลาไม่ถึงเดือนที่รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศ เราได้เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาแล้วถึง 2 ชุดใหญ่ ในวันที่ 13 ม.ค.2552 รัฐบาลได้อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 18 มาตรการ โดยเพิ่มงบประมาณกลางปี 115,000 ล้านบาท และถัดมาเพียง 1 สัปดาห์ ในวันที่ 20 ม.ค.2552 รัฐบาลอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง 7 มาตรการ ซึ่งจะทำให้รัฐสูญเสียเงินเพิ่มขึ้นอีก 40,000 ล้านบาท รวมกันแล้วงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบนี้สูงถึงประมาณ 155,000 ล้านบาท เลยทีเดียว

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ เป็นการใช้นโยบายการคลังของภาครัฐ ที่มีทั้งมาตรการเพิ่มรายจ่ายภาครัฐ และใช้มาตรการภาษี โดยมีจุดมุ่งหมายในการให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการบริโภคภายในประเทศ หรือที่เรียกว่า Fiscal Stimulus แต่คำถามที่เกิดขึ้นคือ นโยบายการคลังที่ใช้ กระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือ?

แนวคิดหรือทฤษฎีของการใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจมีมาตั้งแต่อดีต นายจอห์น เมยนาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) ได้เขียนหนังสือ The General Theory of Employment, Interest, and Money ในปี ค.ศ. 1936 ในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐเกิดการถดถอยอย่างรุนแรง ซึ่งเรียกกันภายหลังว่า The Great Depression โดย นายจอห์น เมยนาร์ด เคนส์ ชี้ว่า ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยที่ความต้องการบริโภคสินค้าโดยรวมลดลง ผู้คนลดการบริโภคและเก็บเงินมากขึ้น ผู้ผลิตเองก็จำเป็นต้องลดการลงทุนและการผลิตสินค้าลง เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจเดินต่อไปได้ รัฐบาลต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญ ในการเพิ่มความต้องการบริโภคสินค้าที่ขาดหายไปในตลาด ซึ่งเคนส์ได้แนะนำให้รัฐบาลใช้วิธีการเพิ่มรายจ่าย หรือแม้กระทั่งการลดภาษี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

แต่ทั้งนี้ ทฤษฎีของเคนส์กลับไม่สามารถผ่านด่านทดสอบที่สำคัญไปได้ ในช่วงปี ค.ศ. 1973 สหรัฐอเมริกาประสบปัญหาวิกฤติการณ์น้ำมันอย่างรุนแรง ในเวลานั้นเศรษฐกิจสหรัฐได้เข้าสู่สภาวะถดถอย พร้อมกับปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง หรือที่เรียกว่า Stagflation ปรากฏการณ์ที่ไปด้วยกันระหว่างปัญหาเงินเฟ้อและปัญหาเศรษฐกิจถดถอย ไม่สามารถอธิบายได้โดยทฤษฎีของเคนส์ นอกจากนี้การแก้ปัญหาโดยใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะยิ่งเพิ่มปัญหาเงินเฟ้อให้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

แนวคิดหรือทฤษฎีของเคนส์จึงถูกวิพากย์วิจารณ์อย่างหนัก ถึงความล้มเหลว ในขณะเดียวกัน กลุ่มเศรษฐศาสตร์สำนักการเงิน (Monetarist School) ที่นำโดย Milton Friedman และกลุ่มเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิกใหม่ (New Classical Economics) ที่นำโดย นาย Robert E. Lucas ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการอธิบายปรากฎการณ์เศรษฐกิจมหภาคที่เกิดขึ้น และเข้ามาแทนทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิมของเคนส์

เศรษฐศาสตร์จึงไม่ใช่ศาสตร์ที่ตายแล้วหรือหยุดนิ่งอยู่กับที่ เมื่อเวลาผ่านไปก็จะมีทฤษฎีใหม่ที่สามารถใช้อธิบายปรากฎการณ์เศรษฐกิจต่างๆ ที่ทฤษฎีเก่าไม่สามารถอธิบายได้เกิดขึ้นเสมอ ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์มหภาคในปัจจุบันได้ถูกพัฒนาจนไกลมากจากทฤษฎีดั้งเดิมที่เคนส์ได้นำเสนอ แต่น่าแปลกใจที่ทุกครั้งเมื่อมีปัญหาเศรษฐกิจเกิดขึ้น รัฐบาล (ไม่เพียงเฉพาะประเทศไทย) กลับยึดแนวคิดหรือทฤษฎีดั้งเดิมของเคนส์ที่เชื่อว่า มาตรการการคลังสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง ทั้งๆ ที่ได้มีการพิสูจน์ในเชิงวิชาการมาแล้วถึงความล้มเหลวหลายครั้งหลายคราว ซึ่งท่านนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตท่านเป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์ คงทราบในเรื่องนี้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว

แม้นว่าการใช้นโยบายการคลัง จะถูกคาดหวังจากรัฐบาลและจากสังคมว่า สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สังคมจำเป็นต้องระลึกเสมอว่า ในเวลาที่การเมืองยังขาดเสถียรภาพ อายุของรัฐบาลอาจไม่ยืนยาวนัก มาตรการต่างๆที่ออกมานั้น รัฐบาลในปัจจุบันคงไม่ทันอยู่รับผิดชอบต่อผลจากมาตรการที่ได้ทำไว้ การขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้น สุดท้ายก็ต้องมีผู้จ่าย ซึ่งคงหนีไม่พ้นบรรดาประชาชน ตาดำๆ ที่ยังมีลมหายใจอยู่ในประเทศนี้

การขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลอาจใช้การขายพันธบัตรเพื่อกู้ยืมเงินภายในหรือภายนอกประเทศ เพื่อยืมเงินในอนาคตมาใช้ก่อน แต่สุดท้ายเมื่อถึงเวลาก็ต้องชำระเงินคืนแก่เจ้าหนี้ รัฐบาลไม่ได้มีหนทางมากนักในการหารายได้เพิ่ม ท้ายที่สุดก็อาจกลับมาใช้วิธีการเพิ่มภาษีในอนาคต หรือหากไม่มีแหล่งเงินให้กู้ยืม ก็อาจจำเป็นต้องพิมพ์เงินขึ้นมาชำระหนี้ ซึ่งวิธีหลังจะส่งผลให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง เราคงไม่อยากเห็นประเทศไทยเป็นเหมือนกับประเทศซิมบับเวในเวลานี้ที่อัตราเงินเฟ้อสูงถึง 231 ล้านเปอร์เซ็นต์

ในวันนี้ ประชาชนบางท่านอาจดีใจที่ได้รับเงินพิเศษหรือเงินให้เปล่า ที่เรียกว่า Helicopter Money หรือ แม้นกระทั่งได้รับบริการต่างๆ จากภาครัฐเพิ่มขึ้น แต่หากในอนาคต ประชาชนจะต้องถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น เพื่อมาจ่ายคืนแก่เงินหรืองบประมาณที่รัฐบาลได้ใช้ในครั้งนี้ เราคงต้องกลับมาถามตัวเองว่า เงินที่ได้เพิ่มมาในวันนี้ จะทำให้ท่านใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจนเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามที่รัฐบาลคาดหวังหรือไม่ ตรงนี้คงเป็นคำตอบสำหรับคำถามที่ว่า “นโยบายการคลัง กระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือ?”

*"นโยบายการคลัง กระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือ?" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 4 ก.พ. 2552

Wednesday, January 7, 2009

ฤาสหรัฐอเมริกากำลังติดกับดักสภาพคล่อง? (Liquidity trap in the U.S.?)*

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ประกาศปรับลดเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (Fed funds rate) ลงจากเดิมที่ 1.00 % เหลือ 0.25 % และปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (Discount rate) ลงจากเดิมที่ 1.25 % เหลือ 0.50 % การปรับลดอัตราดอกเบี้ยโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ลงจนเกือบเป็น 0% ในครั้งนี้ ได้มีนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์หลายท่านได้นำไปเปรียบเทียบกับวิกฤติการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1990 ถึง ค.ศ. 2005 โดยครั้งนั้นธนาคารกลางญี่ปุ่น ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 0% เพื่อมุ่งหวังที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจถดถอยที่ยืดเยื้อและยาวนาน แต่กลับไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มหนึ่ง รวมถึง นายพอล ครุกแมน (Paul Krugman) นักเศรษฐศาสตร์ชาวสหรัฐฯ ผู้ได้รับรางวัลโนเบิลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปีที่ผ่านมา ได้วิเคราะห์ปัญหาวิกฤติการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นว่า เป็นปัญหากับดักสภาพคล่อง (Liquidity trap)

สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้พูดถึงปัญหากับดักสภาพคล่องเป็นท่านแรกๆ ได้แก่ นาย จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) ซึ่งได้กล่าวถึงปัญหานี้ไว้ว่า เกิดจากการมีเงินออมส่วนเกิน (Excess saving) เกิดขึ้นในระบบ โดยในภาวะปกติ เงินออมที่เก็บสะสมไว้ ธนาคารจะนำมาปล่อยกู้ หรือที่เรียกว่า เงินลงทุน โดยทำงานผ่านกลไกของอัตราดอกเบี้ยในการปรับเข้าหาจุดสมดุล หรือจุดดุลยภาพ ซึ่ง ณ จุดนั้น ปริมาณเงินออมจะเท่ากับปริมาณเงินลงทุน ตัวอย่างเช่น ในภาวะที่มีเงินออมส่วนเกินเกิดขึ้น อัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับลง เพื่อกระตุ้นให้เกิดความต้องการกู้ยืมเงินไปลงทุนมากขึ้น ในที่สุดปริมาณเงินออมก็จะกลับมาเท่ากับปริมาณเงินลงทุน

สาเหตุที่อาจทำให้ความต้องการเงินลงทุนมีน้อยกว่าปริมาณเงินออมในระบบ ได้แก่ ความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจของนักลงทุน ที่ทำให้นักลงทุนไม่กล้าลงทุนในโครงการต่างๆ แม้นว่าอัตราดอกเบี้ยจะต่ำเป็นศูนย์แล้วก็ตาม เพราะผลตอบแทนจากการลงทุนอาจติดลบก็เป็นได้ และที่สำคัญเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเกือบเป็นศูนย์แล้ว การปรับเข้าสู่จุดดุลยภาพผ่านการลดอัตราดอกเบี้ยก็ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จึงทำให้เกิดเงินออมส่วนเกิน หรือสภาพคล่องคงเหลือเกิดขึ้น และถูกเรียกว่ากับดักสภาพคล่อง

นาย จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ได้อธิบายว่า หากแม้นว่ากลไกอัตราดอกเบี้ยไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ แต่จุดดุลยภาพยังเกิดขึ้นได้ผ่านภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซี่งทำให้รายได้ของคนในประเทศลดลง และส่งผลให้เงินออมในระบบลดลงด้วย สุดท้ายเงินออมก็จะกลับมาเท่ากับเงินลงทุนอีกครั้ง

แต่การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยลงจนเกือบเป็น 0% แล้วในครั้งนี้ มิได้หมายความว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ทิ้งไพ่ตายใบสุดท้ายออกไปแล้ว หรือใช้นโยบายทางการเงินอย่างถึงที่สุด ตามที่หลายท่านเข้าใจ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาจนเกือบเป็น 0% เป็นเพียงอัตราดอกเบี้ยที่เป็นตัวเงิน (Nominal interest rate) เท่านั้น แต่ไม่ใช้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real interest rate) เพราะอัตราดอกเบี้ยที่เป็นตัวเงิน จะเท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง บวกด้วยอัตราเงินเฟ้อ (หรือ Nominal interest rate = Real interest rate + Inflation) หากมีการคาดการณ์ถึงการถดถอยลดลงของราคาสินทรัพย์ และทำให้เกิดการคาดการณ์ที่อัตราเงินเฟ้อติดลบ แม้นว่าอัตราดอกเบี้ยที่เป็นตัวเงินจะเป็นศูนย์ แต่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังมีค่าเป็นบวกได้

นายพอล ครุกแมน ได้กล่าวหลายครั้งหลายคราว ถึงปัญหากับดักสภาพคล่องที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น (รวมทั้งที่กำลังเกิดขึ้นในสหรัฐฯ) ว่าเกิดจากการใช้นโยบายการเงินที่ไม่พอเพียง แม้นว่าอัตราดอกเบี้ยจะเป็นศูนย์แล้วก็ตาม สำหรับวิธีการแก้ไขปัญหา นายพอล ครุกแมนได้แนะนำว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นควรกำหนดนโยบายทางการเงินแบบผ่อนปรนที่มีความต่อเนื่องในระยะยาว ที่สำคัญต้องทำให้นักลงทุนเชื่อว่าภาวะเงินเฟ้อกำลังจะเกิดขึ้นจริง ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงนั้นมีค่าติดลบ และจูงใจให้เกิดการลงทุนขึ้นได้

ข้อคิดเห็นดังกล่าวของนายพอล ครุกแมน สอดคล้องกับข้อคิดเห็นของนายโรเบิรต์ อี ลูคัส จูเนียร์ (Robert E. Lucas, Jr.) นักเศรษฐศาสตร์ชาวสหรัฐอีกท่านหนึ่ง ที่ได้รับรางวัลโนเบิลทางเศรษฐศาสตร์ในปี ค.ศ. 1995 ซึ่งกล่าวแสดงความชื่นชมต่อการใช้นโยบายทางการเงินที่ผ่านมาของนายเบน เบอร์นันเก (Ben Bernanke) ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ผ่านทางหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal ในวันที่ 23 ธันวาคม 2551 และยังแสดงข้อคิดเห็นว่า แม้นว่าปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยจะเกือบเป็นศูนย์แล้ว ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังสามารถใช้นโยบายผ่อนปรนทางการเงินได้ โดยการเข้าไปซื้อ-ขายตราสารหนี้ พันธบัตร หุ้นกู้จากภาคเอกชนโดยตรง เป็นต้น

การทำงานที่ผ่านมาของนายเบน เบอร์นันเก ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า นโยบายทางการเงินเป็นเครื่องมือหลักของสหรัฐฯ ในการแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ซึ่งในระยะเวลาอันใกล้ เราคงคาดหวังได้ที่จะเห็นประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ผู้นี้ ดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนปรนที่มีความเข้มข้นต่อไป ผ่านเครื่องมือทางการเงิน หรือนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ อย่างแน่นอน

*"ฤาอเมริกากำลังติดกับดักสภาพคล่อง?" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 7 ม.ค. 2552