Thursday, December 4, 2008

ปัญหาการเลือกที่ผิด กับอนาคตตลาดการเมืองไทย*

ปัญหาการเลือกที่ผิด หรือ Adverse selection problem เป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญทางเศรษฐศาสตร์ ที่เกิดจากความไม่เท่าเทียมของข้อมูลข่าวสาร (Asymmetric information) ระหว่างกัน ตัวอย่างที่นิยมถูกนำมาใช้ในการแสดงถึงปัญหาการเลือกที่ผิด ได้แก่ ตลาดซื้อขายรถมือสอง ตลาดประกันภัย เป็นต้น

เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น ผมขอยกตัวอย่างปัญหาการเลือกที่ผิดในตลาดซื้อขายรถมือสอง หรือ the market for lemons (ในที่นี้ lemon cars มีความหมายถึงรถที่มีคุณภาพไม่ดี) ซึ่งมีนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังในเรื่องของความไม่เท่าเทียมกันของข้อมูลคือท่าน George A. Akerlof เป็นผู้เขียนวิเคราะห์ไว้ในปี ค.ศ. 1970

ปกติแล้วในตลาดซื้อขายรถมืองสอง จะมีผู้ขายรถที่มีคุณภาพดีและรถที่มีคุณภาพไม่ดีอยู่ด้วยกัน โดยผู้ขายรถจะเป็นผู้ที่มีข้อมูลที่แท้จริงของรถคันนั้นว่า เป็นรถที่มีคุณภาพดีหรือไม่ หากเป็นรถที่มีคุณภาพไม่ดี ผู้ขายก็จะพยายามปกปิดข้อมูลเหล่านี้ไม่ให้ผู้ซื้อรู้ เพื่อที่จะสามารถขายรถได้ในราคาที่สูง ดังนั้นผู้ซื้อไม่สามารถทราบได้เลยจากผู้ขายว่า รถคันนั้นมีคุณภาพอย่างไร กว่าจะรู้ว่ารถดีหรือไม่ดี คงต้องรอจนกว่าจะตัดสินใจซื้อไปแล้ว หากซื้อแล้วได้รถดีก็ดีไป แต่ถ้าซื้อแล้วได้รถไม่ดีก็คงแย่

ผู้ซื้อจึงต้องเผชิญกับความเสี่ยงของการซื้อรถที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งความเสี่ยงนี้เกิดจากความไม่เท่าเทียมกันของข้อมูลข่าวสารระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เมื่อมีความเสี่ยงที่ผู้ซื้อรถต้องเผชิญเกิดขึ้น ผู้ซื้อรถจึงจำเป็นที่จะต้องให้ราคาซื้อ ภายใต้ความเสี่ยงที่อาจเป็นได้ เช่น หากรถมีคุณภาพดี รถคันนั้นอาจมีมูลค่าถึง 100,000 บาท แต่ถ้าหากเป็นรถที่มีคุณภาพไม่ดี รถอาจมีมูลค่าเหลือเพียง 40,000 บาท แต่เนื่องจากผู้ซื้อรถไม่ทราบว่ารถที่จะซื้อเป็นรถดีหรือไม่ สมมติว่ามีโอกาส 50-50 ว่าจะเป็นรถที่มีคุณภาพดีหรือคุณภาพไม่ดี ผู้ซื้อรถอาจเสนอซื้อรถคันนั้นในราคาเพียง 60,000 บาท (ราคาที่อยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างราคารถคุณภาพดีกับรถคุณภาพไม่ดี)

ราคาที่เสนอซื้อเป็นเช่นนี้ ผู้ขายรถที่มีคุณภาพดีก็ย่อมไม่อยากขายในราคาดังกล่าว เพราะเขาทราบดีว่ามูลค่ารถที่แท้จริงควรอยู่สูงกว่าราคาที่เสนอซื้อนั้น แต่ในทางกลับกัน สำหรับผู้ขายรถที่คุณภาพไม่ดี เมื่อราคาที่เสนอซื้อสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง ผู้ขายย่อมยินดีที่จะขายรถของตน ดังนั้นจะสังเกตได้ว่า ภายใต้ลักษณะของตลาดที่ข้อมูลข่าวสารมีความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย สุดท้ายก็จะเหลือแต่รถคุณภาพไม่ดีเท่านั้นที่รอถูกขายอยู่ในตลาด

หากลองนำหลักการข้างต้นของปัญหาการเลือกที่ผิด มาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ถึงอนาคตของตลาดการเมืองไทยก็สามารถทำได้ ตลาดการเมืองไทยประกอบไปด้วยผู้ซื้อและผู้ขาย โดยผู้ขายหรือนักการเมือง (เช่นเดียวกันกับผู้ขายรถมือสองในตัวอย่างข้างต้น) เป็นผู้เสนอตัวเข้ามาทำงานเพื่อประเทศ ซึ่งนักการเมืองก็มีทั้งนักการเมืองน้ำดี (ผู้ขายรถที่มีคุณภาพดี) กับนักการเมืองน้ำไม่ดี (ผู้ขายรถที่มีคุณภาพไม่ดี) อยู่ในตลาด สำหรับผู้ซื้อในตลาดนี้ก็คือ ประชาชน ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ซึ่งทำหน้าที่ตัดสินเลือกนักการเมืองเข้ามา

สถานการณ์ทางการเมืองไทยที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ไม่ว่าสุดท้ายจะลงเอยในลักษณะไหน (รัฐประหาร รัฐบาลลาออก ยุบสภา หรืออื่นๆ) เราสามารถคาดการณ์ แบบฟันธง หรือ แบบ confirm ไปเลยว่า ปัญหาการเมืองไทยคงยังไม่จบสิ้น ตราบที่ผู้คนในสังคมไทย ยังแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเช่นนี้ ดังนั้นโอกาสที่รัฐบาลปัจจุบัน หรือรัฐบาลใหม่ ไม่ว่าจะมาจากไหน จะสามารถอยู่บริหารประเทศอย่างได้ต่อเนื่องคงไม่ใช่เรื่องง่าย

ภายใต้ความเสี่ยงทางการเมืองที่สูง สังคม (หรือผู้ซื้อรถ) มองนักการเมืองในมุมลบ และให้มูลค่าต่ำ (เนื่องจากไม่สามารถแยกแยะได้ว่าใครดี ใครไม่ดี และต่างรู้สึกเบื่อหน่าย หมดหวังกับการเมืองไทย) นักการเมืองน้ำดี ผู้มีต้นทุนทางสังคมสูง ก็คงไม่อยากอยู่ในตลาดการเมืองนี้ และคงทะยอยเดินออกไปจากตลาด ในขณะที่นักการเมืองน้ำดีที่ยังอยู่นอกตลาด ก็ยิ่งไม่อยากเข้ามาแปะเปื้อน

สุดท้ายอนาคตของตลาดการเมืองไทย อาจไม่เหลือนักการเมืองน้ำดี ที่สังคมสามารถฝากความหวังให้เลือกมากนัก จะเหลือเพียงแต่นักการเมืองน้ำไม่ดี ที่คิดแต่ประโยชน์ตนเอง ไม่มีต้นทุนทางสังคม ตกตะกรัน เกาะก้นเป็นตะกอนหนักเท่านั้น

แต่ไม่แน่ครับ หากถึงวันที่ตลาดการเมืองไทยเหลือแต่เพียงนักการเมืองน้ำไม่ดี และบรรดาพวกตะกอนหนักจริงๆ วันนั้นสังคมไทยคงไม่สามารถยอมรับตลาดแบบนี้ได้ วันนั้นอาจมีผู้กล้า ที่จะเข้ามาเทน้ำเน่าเสียและพวกตะกอนหนักที่เหลืออยู่เหล่านี้ทิ้งไป เพื่อประเทศไทยจะได้มีโอกาสตักน้ำใหม่ขึ้นมาก็เป็นได้

* "ปัญหาการเลือกที่ผิด กับอนาคตตลาดการเมืองไทย" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 3 ธ.ค. 2551

Wednesday, October 15, 2008

ปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินโลก กับการใช้นโยบายทางการเงินที่ถูกต้อง*

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้เขียนทิ้งท้ายว่า ด้วยแนวคิดของนาย เบน เบอร์นันเก ที่ให้ความสำคัญอย่างมากต่อการใช้นโยบายการเงินในการแก้ไขปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินโลก เราคงไม่แปลกใจที่จะเห็นประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ผู้นี้ จะใช้นโยบายทางการเงินอย่างรวดเร็ว ในการเข้าไปแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ลุกลามและขยายตัวรุนแรงจนเกิด The Great Depression ครั้งที่ 2

ในวันที่ 9 ตุลาคม ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.5% จาก 2% มาเป็น 1.5% ซึ่งยืนยันให้เห็นถึงการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนปรน (โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบสถาบันการเงิน เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ ซึ่งแน่นอนครับ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงของธนาคารกลางสหรัฐฯในสัปดาห์ที่ผ่านมา คงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่เราจะเห็นในปีนี้ ได้มีการคาดการณ์ว่า หากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจยังไม่สามารถคลี่คลายไปได้ในเร็ววัน ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจตัดสินใจดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก จนมาเหลือ 0% ก็เป็นได้

นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังได้ตัดสินใจเข้าซื้อตราสารหนี้ระยะสั้นที่ออกโดยภาคเอกชนในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งนับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิด The Great Depression ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้เข้าแทรกแซงในตลาดตราสารหนี้ของภาคเอกชนโดยตรง เพื่อเร่งอัดฉีดสภาพคล่องและเพิ่มความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ในขณะเดียวกัน ธนาคารกลางสหภาพยุโรป ธนาคารกลางอังกฤษ และธนาคารกลางประเทศต่างๆ ทั่วโลก ต่างแสดงอย่างชัดเจนที่ใช้นโยบายทางการเงิน ในการแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์ที่ได้ลุกลามไปยังประเทศต่างๆ ซึ่งย่อมแสดงให้เราเห็นถึงสภาพความร้ายแรงของปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินโลกที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน

แม้นว่านโยบายทางการเงินจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ที่จะช่วยโลกให้ผ่านพ้นวิกฤติการณ์ครั้งนี้ไปได้ แต่การใช้นโยบายทางการเงินให้ถูกต้องและเหมาะสมนั้น คงไม่ใช่เรื่องง่าย และยิ่งไปกว่านั้น ผลของมาตรการทางการเงิน ที่ผ่านกลไกของอัตราดอกเบี้ยนั้น อาจมีความล่าช้าและต้องใช้เวลานานนับปีกว่าที่จะเห็นผลได้

บ่อยครั้ง การใช้นโยบายทางการเงินอย่างรุนแรงจนเกินไป กลับส่งผลร้ายต่อระบบเศรษฐกิจและนำพาประเทศไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น การใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนปรน (ปรับลดอัตราดอกเบี้ย) ที่มากเกินความจำเป็น โดยมุ่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้น อาจนำไปสู่การเกิดปัญหาเงินเฟ้อที่รุนแรงในระยะยาว ดังที่เคยเกิดขึ้นกับสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 1968 หรือ แม้นแต่การใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด (ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย) เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ อาจนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง ดังที่เกิดขึ้นกับสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 1974

คงไม่ใช่เรื่องง่ายครับ ที่ผู้กำหนดนโยบายทางการเงิน หรือ ธนาคารกลางในประเทศต่างๆ จะสามารถใช้นโยบายทางการเงินได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งแม้นแต่ Milton Friedman ผู้นำกลุ่มเศรษฐศาสตร์สำนักการเงิน ยังเคยเสนอให้ยกเลิกอำนาจในการตัดสินใจกำหนดนโยบายทางการเงิน โดยผู้มีอำนาจในธนาคารกลางสหรัฐฯ และเสนอให้นำระบบกลไกควบคุมอัตโนมัติ (Automatic Stabilizer) โดยผ่านกลไกของอัตราดอกเบี้ย มาใช้ในการกำหนดปริมาณในระบบที่เหมาะสม เพื่อมิให้ผู้กำหนดนโยบายตัดสินใจผิดพลาด และใช้นโยบายที่รุนแรงจน หรือ ผิดช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่ทั้งนี้ ความคิดดังกล่าวของ Milton Friedman ยังคงไม่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน นโยบายทางการเงินทั่วโลกส่วนใหญ่ ยังถูกกำหนดโดยผู้มีอำนาจในธนาคารกลางของประเทศต่างๆ

ปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินโลกที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ประเทศต่างๆ ทั่วโลก พยายามดิ้นรน ต่อสู้ทุกหนทางด้วยมาตรการต่างๆ ที่รุนแรง (ซึ่งอาจนำโลกไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อได้ในระยะยาว) การเตรียมประเทศให้พร้อม รวมถึงการดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างถูกต้องมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ที่จะช่วยให้ประเทศไทยผ่านพ้นจากวิกฤติการณ์ครั้งนี้ไปได้ เพราะประเทศไทยเปรียบเสมือนดั่งลำคลองเล็กๆ สายหนึ่ง ที่แม้นจะเคยได้รับการขุดลอกมาเป็นอย่างดี (ในช่วงที่เกิดวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้ง) แต่เมื่อลำคลองสายนี้ยังคงต้องเชื่อมต่อกับแม่น้ำสายหลัก (เศรษฐกิจโลก) อยู่ หากแม่น้ำสายหลักเกิดปัญหาน้ำหลากจนท่วมล้นอย่างรุนแรง ลำคลองสายเล็กๆ อย่างประเทศไทยจะสามารถรอดพ้นไปได้อย่างไร หากปราศจากการเตรียมพร้อมที่เหมาะสมและถูกต้อง

* "ปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินโลก กับการใช้นโยบายทางการเงินที่ถูกต้อง" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 15 ต.ค. 2551

Wednesday, October 8, 2008

The Great Depression ในมุมมองของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ*

เหตุการณ์วิกฤตสถาบันการเงินของสหรัฐฯที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ได้มีการนำไปเปรียบเทียบกับวิกฤติการณ์เศรษฐกิจครั้งใหญ่ของโลกที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1929-1939 ที่เริ่มต้นจากประเทศสหรัฐฯ และลุกลามไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก วิกฤติการณ์ในครั้งนั้นเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า “The Great Depression”

เพื่อให้เห็นภาพถึงความรุนแรงของ The Great Depression ที่เกิดขึ้นนั้น ในช่วงแรกระหว่างปี ค.ศ. 1929-1933 นับว่าเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายเป็นอย่างมาก ภาคการผลิตของสหรัฐฯ หดตัวกว่าหนึ่งในสาม และอัตราการว่างานเพิ่มขึ้นจากอัตราร้อยละ 3 มาเป็นอัตราร้อยละ 25 (เมื่อเปรียบเทียบกับในปัจจุบัน อยู่ที่อัตราร้อยละ 6) นอกจากนี้สำหรับผู้ที่มีงานทำ ส่วนใหญ่จะเป็นเพียงงานชั่วคราวที่ได้รับค่าจ้างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจ ที่เมื่อดูภาพยนต์หรือภาพถ่ายของผู้คนในยุคนั้น บ่อยครั้งเราจะคุ้นตากันดีกับภาพที่ผู้คนชาวสหรัฐฯ สวมชุดสูท ยืนต่อแถวยาวเหยียดเพียงเพื่อรอรับแจกเศษขนมปังและซุป

แม้นว่าต้นเหตุที่แท้จริงของการเกิด The Great Depression ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในกลุ่มของนักเศรษฐศาสตร์ ได้มีการแบ่งแยกคำอธิบายถึงสาเหตุออกเป็นหลายกลุ่มความคิดด้วยกัน โดยหนึ่งในกลุ่มความคิดที่ผมขออนุญาตกล่าวถึงในวันนี้ คือ กลุ่มเศรษฐศาสตร์สำนักการเงิน (Monetarist) ที่มีนักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกอย่าง Milton Friedman (นักเศรษฐศาสตร์ผู้ซึ่งได้รับรางวัลโนเบิลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี ค.ศ. 1976) เป็นผู้นำ โดยนักเศรษฐศาสตร์ในกลุ่มนี้ เชื่อว่าต้นเหตุที่นำไปสู่วิกฤติการณ์เศรษฐกิจในครั้งนั้น เกิดจากความผิดพลาดในการใช้นโยบายการเงิน รวมถึงการใช้ระบบมาตรฐานทองคำในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศต่างๆ ในช่วงเวลาขณะนั้น

แนวความคิดของนักเศรษฐศาสตร์ในกลุ่มนี้ ได้รับการยอมรับจาก นายเบน เบอร์นันเก (Ben Bernanke) ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคเป็นอย่างดี แต่ที่สำคัญแนวคิดของนาย นายเบน เบอร์นันเก ที่มีต่อปัญหาวิกฤติการณ์เศรษฐกิจในอดีต เป็นเรื่องที่ไม่สามารถมองข้ามได้ เพราะประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ผู้นี้ เป็นหนึ่งในสองของผู้กุมบังเหียนที่จะชี้ชะตาสหรัฐ ว่าจะสามารถผ่านพ้นปัญหาวิกฤติการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นไปได้หรือไม่ (ผู้กุมบังเหียนอีกท่านหนึ่งคือรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ นาย Henry Paulson)

นายเบน เบอร์นันเก ได้กล่าวบรรยายถึงวิกฤติการณ์ The Great Depression หลายครั้งหลายคราว ทั้งในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2002 ที่มหาวิทยาลัย University of Chicago ในรัฐชิคาโก และในวันที่ 2 มีนาคม 2004 ที่มหาลัย Washington and Lee University ในรัฐเวอร์จีเนีย ซึ่งมีใจความสำคัญที่ผมขอคัดมาเฉพาะบางส่วน มากล่าวถึงดังนี้

นายเบน เบอร์นักเก ได้ยอมรับถึงความคิดของ Milton Friedman ที่เขียนร่วมกับ Anna J. Schwartz ในหนังสือ A Monetary History of the United States 1867-1960 ว่าเป็นงานที่มีอิทธิพลต่อเขาเป็นอย่างมาก โดยวิกฤติการณ์ The Great Depression ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและยาวนาน เกิดจากการดำเนินนโยบายทางการเงินที่ผิดพลาดในอดีต

โดยในช่วงแรกก่อนเกิดวิกฤติการณ์ ระหว่างปี ค.ศ. 1928-1929 ธนาคารกลางสหรัฐ ฯ ได้ใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด (นำไปสู่การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย) ในการจัดการกับการเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์ แต่การใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดจนเกินไป กลับส่งผลทำให้ราคาสินค้าลดต่ำลงเนื่องจากกำลังซื้อที่หดตัวลง ซึ่งเพิ่มความอ่อนแอของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อมาไม่นาน ในวันอังคารที่ 29 ตุลาคม 1929 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ตกลงอย่างรุนแรง (เป็นที่รู้จักกันในภายหลังว่า Black Tuesday) ซึ่งถูกอ้างอิงว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ The Great Depression นั่นเอง

เหตุการณ์ต่อมาที่แสดงถึงความผิดพลาดของการใช้นโยบายทางการเงิน เกิดขึ้นในช่วงเดือนกันยายน ถึงตุลาคม 1931 ภายหลังจากการเข้าไปเก็งกำไรค่าเงินปอนด์ของอังกฤษสำเร็จ (คล้ายๆ กับที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศไทย) ค่าเงินในยุคสมัยนั้นผูกติดกับระบบมาตรฐานทองคำในการแลกเปลี่ยน นักเก็งกำไรหันเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งทำให้นักลงทุนต่างนำเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มาแลกเปลี่ยนกับทองคำเป็นจำนวนมาก ซึ่งลดความมั่นคงของธนาคารสหรัฐฯ และส่งผลให้ความเชื่อมั่นที่ผู้คนมีต่อสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ลดต่ำลง

เมื่อขาดความเชื่อมั่น ผู้คนต่างแห่กันไปถอนเงินกันมากขึ้น ซึ่งส่งผลทำให้สถาบันทางการเงินของสหรัฐฯ ต้องปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก ธนาคารกลางสหรัฐฯ ในขณะนั้น แทนที่จะรีบเข้าไปควบคุมสถาบันการเงินที่มีปัญหา เพื่อไม่ให้ความตื่นตระหนกขยายตัวออกไปเป็นวงกว้าง แต่กลับใช้วิธีการแก้ปัญหาโดยการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด เพื่อหวังจะรักษาเงินฝากไว้ซึ่งไม่เป็นผล ในขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นก็กลับมาทำร้ายเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้แย่ลงไปกว่าเดิม

ในตอนท้ายของการบรรยาย นายเบน เบอร์นันเก ได้กล่าวยอมรับในนามของตัวแทนธนาคารกลางสหรัฐฯ ว่า สำหรับวิกฤติการณ์ The Great Depression ที่เกิดขึ้นนั้น สิ่งที่ Milton Friedman และ Anna J. Schwartz ได้กล่าวว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นต้นตอที่ทำให้ปัญหาวิกฤติการณ์ในครั้งนั้นรุนแรงและยาวนาน นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ทั้งนี้ ความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นนั้น จะไม่ยอมให้เกิดขึ้นอีก:

“I would like to say to Milton and Anna: Regarding the Great Depression. You're right, we did it. We're very sorry. But thanks to you, we won't do it again.”

ด้วยแนวความคิดดังกล่าวของนายเบน เบอร์นันเก รวมถึงการออกมายอมรับต่อความผิดพลาดทางด้านนโยบายทางการเงินที่เกิดขึ้นในอดีต จึงไม่น่าแปลกใจที่วันนี้ เราจะเห็นประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ผู้นี้ ใช้นโยบายทางการเงินอย่างรวดเร็ว ในการแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจสหรัฐที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ลุกลามและขยายตัวรุนแรงจนเกิด The Great Depression ครั้งที่ 2

* "The Great Depression ในมุมมองของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 8 ต.ค. 2551

Wednesday, August 20, 2008

ปรัชญาขงเบ้งกับระบอบประชาธิปไตยแบบไทย*

ผู้เขียนมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์เรื่องสามก๊ก ตอนศึกผาแดง (Battle of Red Cliffs) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ศึกเซ็กเพ็ก แม้นว่าเนื้อหาส่วนหนึ่งในภาพยนตร์จะผิดเพี้ยนไปจากเนื้อเรื่องในพงศาวดารพอสมควร แต่ทั้งนี้ก็พอเข้าใจได้ว่า ผู้สร้างภาพยนตร์จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้บทภาพยนตร์มีความสนุกสนานและกระชับมากขึ้น

ศึกเซ็กเพ็กนั้น นับได้ว่าเป็นตอนสำคัญที่สุดตอนหนึ่งในเรื่องสามก๊ก ที่นำไปสู่การกำเนิดขึ้นเป็น “สามก๊ก” นั่นคือ “วุยก๊ก” (โจโฉ) “จ๊กก๊ก” (เล่าปี่) และ“ง่อก๊ก” (ซุนกวน) โดยเนื้อหาในตอนนี้ ไม่เพียงจะเข้มข้นและเต็มไปด้วยพิชัยยุทธในการสงคราม แต่ยังแฝงไปด้วยปรัชญาความคิดที่ยังคงความเป็นอมตะและนำไปประยุกต์ใช้ได้จนถึงวันนี้

หนึ่งในปรัชญาอมตะที่ผู้เขียนขอกล่าวถึงคือ ปรัชญาของขงเบ้งในครั้งที่โจโฉพ่ายแพ้ในศึกเซ็กเพ็กด้วยกลลวงผูกเรือของบังทองและการหยั่งรู้ลมฟ้าของขงเบ้ง เพราะเหตุใด ผู้หยั่งรู้ฟ้าดินอย่างขงเบ้งจึงได้มอบหมายให้กวนอู ผู้ขึ้นชื่อในเรื่องกตัญญู แต่ติดคุณโจโฉในครั้งอดีต ไปดักรอโจโฉ ณ. ด่านสุดท้ายที่ตำบลฮัวหยง ที่จะสามารถปลิดชีพหรือจับกุมโจโฉได้โดยง่าย

ในเนื้อหาสามก๊กของเจ้าพระยาคลัง (หน) ได้กล่าวไว้ว่า ขงเบ้งได้ดูดาวสำหรับโจโฉแล้วพบว่า ชะตาโจโฉยังไม่ขาด ดังนั้นขงเบ้งจึงได้แกล้งให้กวนอูไปทำการ เพื่อหวังให้กวนอูทดแทนคุณโจโฉที่มีมาในอดีต แต่ในความจริงแล้ว ความคิดของขงเบ้งไม่เพียงต้องการให้กวนอูได้ทดแทนบุญคุณเก่าของโจโฉเท่านั้น เพราะหากเป็นเช่นนั่นแล้ว ขงเบ้งคงจะแต่งตั้งให้กวนอูไปตั้งสะกัดที่อื่น ที่มิใช่ด่านสุดท้ายเช่นนี้

เหตุผลที่แท้จริงของขงเบ้งคือ ในตอนนั้นฝ่ายเล่าปี่ยังอ่อนแอมาก โดยถ้าหากสิ้นโจโฉเมื่อใด ฝ่าย “ง่อก๊ก” หรือ ซุนกวน คงถือโอกาสรุกรานก๊กอื่นๆ ที่ยังอ่อนแออยู่ ซึ่งรวมถึงฝ่ายเล่าปี่ด้วย และจะทำให้การรวบรวมดินแดนของเล่าปี่เป็นได้ยาก ดังนั้นขงเบ้งจึงเห็นถึงความจำเป็นของการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของสถานะ “สามก๊ก” ที่จะทำหน้าที่ในการคานอำนาจซึ่งกันและกันไว้

สถานะ “สามก๊ก” ถือเป็นสถานะสำคัญที่จะป้องกันไม่ให้ ก๊กใด ก๊กหนึ่งขึ้นมามีอำนาจ หรือรุกรานก๊กอื่นได้ แต่ทั้งนี้เงื่อนไขที่สำคัญคือ จะต้องไม่มีก๊กใดที่มีอำนาจเหนือกว่าก๊กอื่นๆที่เหลือ เช่น “วุยก๊ก” จะต้องไม่มีอำนาจที่เหนือกว่า “จ๊กก๊ก” และ“ง่อก๊ก”รวมกัน ซึ่งถ้า“วุยก๊ก”คิดจะรุกราน“จ๊กก๊ก”เมื่อใด หาก“จ๊กก๊ก”และ“ง่อก๊ก” (อีกสองฝ่ายที่เหลือ) สามารถรวมตัวกัน ก็จะสามารถต่อสู้การรุกรานของ“วุยก๊ก”ได้ สถานะ “สามก๊ก” ดังกล่าว จึงถือว่าเป็นจุดดุลยภาพที่สำคัญ โดยหากเมื่อใดที่มีก๊กหนึ่งมีอำนาจเหนือก๊กอื่นๆ ที่เหลือ สถานะภาพของ“สามก๊ก” ก็จะจบสิ้นเมื่อนั้น

เมื่อนำเอาหลักการของ “สามก๊ก” มาประยุกต์ในการวิเคราะห์ระบอบประชาธิปไตยแบบไทย จะพบว่าแต่เดิมระบอบการปกครองของไทยนั้น มีหลักการในการแบ่งและคาน 3 อำนาจที่เกิดจาก ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ หลักในการคานอำนาจของ 3 อำนาจดังกล่าว ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยเดินไปได้อย่างราบรื่น แต่เช่นเดียวกันจะต้องไม่มีฝ่ายใดที่มีอำนาจเด็ดขาดเหนือกว่าฝ่ายอื่นๆ ดังเช่นในระบอบเผด็จการ

หากพิจารณาถึงสาเหตุที่ทำให้สถานการณ์การเมืองภายในประเทศมีความวุ่นว่าย หนึ่งในสาเหตุที่สำคัญเกิดจาก การสูญเสียสถานะในการดุลและคานอำนาจของ 3 ฝ่ายข้างต้น โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมา เราพบว่าฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัตินั้นไม่ได้เป็นอิสระจากกันอย่างแท้จริง ดังนั้นฝ่ายบริหารเมื่อรวมกับฝ่ายนิติบัญญัติจึงมีอำนาจมากเกินไป ด้วยสาเหตุดังกล่าวจึงทำให้การคานอำนาจของ 3 ฝ่ายไม่เกิดขึ้น แต่ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ ความพยายามที่จะแทรกแซงฝ่ายตุลาการ แต่นับว่าเป็นโชคดีของประเทศไทยที่ความพยายามดังกล่าวยังไม่สัมฤทธิผล

เมื่อการคานอำนาจของ 3 ฝ่ายที่ควรจะเป็นไม่สามารถเกิดขึ้นได้ จึงนำไปสู่การเกิดขึ้นของการเมืองนอกสภาในเวลานี้ โดย 3 ฝ่ายที่มีในเวลานี้กลับเปลี่ยนมาเป็น 1) ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร 2) ฝ่ายตุลาการ และ 3) ฝ่ายการเมืองนอกสภา ซึ่งเป็นจุดหักเหสำคัญของการเมืองไทย

ดังนั้นหากต้องการแก้ปัญหาความวุ่นวายที่เกิดขึ้น และทำให้การเมืองนอกสภาลดลง ประเทศไทยจะต้องหาทางที่จะทำให้ 3 อำนาจเดิมที่เกิดจาก ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายบริหาร สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระและตรวจสอบการทำงานซึ่งกันและกัน โดยปราศจากการแทรกแซงการทำงานระหว่างกัน

หากแนวทางแก้ไขดังกล่าวไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในระยะสั้น เราคงต้องหวังพึ่งฝ่ายตุลาการให้มีอำนาจเพียงพอในการตรวจสอบ เพื่อดุลกับสองอำนาจที่เหลือ ซึ่งถ้าหากฝ่ายตุลาการสามารถพิสูจน์การทำงานของตน จนประชาชนยอมรับและฝากความหวังไว้ได้ ผู้เขียนเชื่อว่า วันนั้นการเมืองนอกสภาก็จะไม่มีความจำเป็น ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับประเทศไทย อย่างน้อยในระยะสั้น ก็คือ การสนับสนุนและให้อำนาจที่เพียงพอแก่ฝ่ายตุลาการในการทำหน้าที่ตรวจสอบ โดยปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายต่างๆ

* "ปรัชญาขงเบ้งกับระบอบประชาธิปไตยแบบไทย" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 20 ส.ค. 2551

Wednesday, May 21, 2008

แมคเคนโนมิกส์ (McCainomics): นโยบายภาษี*

เมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา นายจอห์น แมคเคน (John McCain) ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาตัวแทนพรรครีพับลิกัน ได้แถลงนโยบายเศรษฐกิจของเขา ที่มหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ในประเทศสหรัฐฯ นโยบายที่เขาได้แถลงออกไปในวันนั้นได้ลบคำสบประมาทส่วนหนึ่งที่เคยมีต่อเขา ในเรื่องการขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจอย่างแท้จริง โดยแมคเคนได้แสดงเจตจำนงค์อย่างชัดเจนว่า หากเขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐฯ เขาจะผลักดันให้นโยบายเหล่านี้เกิดขึ้นจริงให้จงได้

ยิ่งไปกว่านั้น จากการที่พรรคเดโมแครตยังไม่สามารถเลือกตัวแทนพรรคเพื่อเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน ที่แบ่งแยกออกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจนระหว่างผู้สนับสนุนนายบารัก โอบาม่า และผู้สนับสนุนนางฮิลลารี คลินตัน จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ หากพรรคเดโมแครตยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในเร็ววัน เสือเฒ่าอย่าง นายจอห์น แมคเคน ก็จะมีโอกาสที่ดีในการได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐฯ ดังนั้นนโยบายเศรษฐกิจของแมคเคน หรือที่ถูกเรียกว่า “McCainomics” จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามอีกต่อไป

นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้ติดตามนโยบายเศรษฐกิจของแมคเคนต่างเห็นพ้องและยอมรับกันว่า หลายๆ นโยบายที่แมคเคนได้นำเสนอ เป็นนโยบายที่ดี และสอดคล้องกับหลักการเศรษฐศาสตร์ ผู้เขียนเองก็มีความเห็นเช่นเดียวกันกับนักเศรษฐศาสตร์เหล่านั้น และคิดว่าหลายๆนโยบายของแมคเคนมีความน่าสนใจและอาจนำมาปรับใช้ได้กับประเทศไทยต่อไปในอนาคต

ผู้เขียนขอใช้โอกาสในวันนี้นำเสนอนโยบายส่วนหนึ่งของแมคเคนที่ได้แถลงไว้ เฉพาะในส่วนของนโยบายภาษี (เนื่องจากพื้นที่ของบทความที่มีจำกัด) โดยแมคเคนได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปฎิรูประบบภาษี เพื่อให้เกิดระบบภาษีที่มีความเสมอภาคมากขึ้น และลดการบิดเบือนตลาดที่เคยมีมาในอดีต ซึ่งระบบภาษีที่ดีนั้น จะช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเติบโตขึ้น เพิ่มการจ้างงาน และเพิ่มบรรยากาศการลงทุนที่ดีภายในประเทศ

ข้อเสนอในด้านนโยบายภาษีของแมคเคน สามารถสรุปได้ดังนี้

- ข้อเสนอในการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล จากที่เดิมกำหนดไว้สูงสุดที่ร้อยละ 35 มาเป็นอัตราสูงสุดที่ร้อยละ 25 โดยแมคเคนได้กล่าวถึงเหตุผลว่า การที่ปัจจุบันอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของสหรัฐฯ ถูกกำหนดไว้ในอัตราที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ เป็นปัจจัยหนี่งที่ทำให้บริษัทหรือนักลงทุนของสหรัฐฯ นำเงินไปลงทุนยังประเทศอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ดังนั้นการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของสหรัฐฯลง จะทำให้บริษัทหรือนักลงทุนเหล่านั้นหันกลับมาลงทุนภายในประเทศกันมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มการจ้างงาน รวมถึงเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

- ข้อเสนอในการปรับวิธีการคิดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเดิมที่มีการคิดภาษี 2 ระบบด้วยกันคือ ระบบการคิดภาษีแบบดั้งเดิม ที่มีข้อยกเว้นและช่องโหว่ทางด้านภาษี (Tax loopholes) เป็นจำนวนมาก และระบบการคิดภาษีแบบ the Alternative Minimum Tax ที่มีอัตราภาษีที่ต่ำกว่า แต่มีข้อยกเว้นทางด้านภาษีไม่มากนัก เพื่อลดช่องโหว่ทางด้านภาษีที่เกิดขึ้นในระบบแรก ทั้งนี้ชาวสหรัฐฯจะต้องแสดงการคิดคำนวนภาษีทั้งสองระบบดังกล่าว และจะต้องจ่ายภาษีเท่ากับวิธีการคิดคำนวนที่ให้ภาษีสูงกว่า โดยแมคเคนเสนอให้ยกเลิกวิธีการคิดภาษีแบบ Alternative Minimum Tax ออกไป เพราะก่อให้เกิดต้นทุนทางด้านภาษีที่สูงขึ้นโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้การยกเลิกวิธีการคิดดังกล่าว จะช่วยลดภาระภาษีที่เกิดขึ้นต่อชนชั้นกลางของสหรัฐฯ กว่า 25 ล้านครอบครัวได้เป็นอย่างมาก

- ข้อเสนอในการปรับปรุงระบบภาษีให้มีความเสมอภาคมากขึ้น เช่น บุคคลที่สมรส หรือบุคคลที่เป็นโสด ควรจ่ายภาษีในลักษณะที่เท่าเทียมกัน เช่นได้รับการลดหย่อนทางด้านภาษีที่เท่าเทียมกัน ข้อเสนอในเรื่องนี้จะช่วยลดความไม่เท่าเทียมจากภาษีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

- ข้อเสนอในการเพิ่มค่าลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดู คู่สมรส บิดา มารดา หรือผู้ที่ต้องอุปการะ จากเดิมที่กำหนดไว้ $US 3,500 มาเป็น $US 7,000 ต่อคน โดยข้อเสนอนี้เกิดจากการที่ค่าลดหย่อนดังกล่าวถูกกำหนดไว้มาเป็นเวลานาน ซึ่งมูลค่าที่แท้จริงของค่าลดหย่อนลดลงทุกปีเนื่องจากเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น

- ข้อเสนอในการปรับระบบภาษีให้ส่งเสริมและเอื้อหนุนต่อการพัฒนาทางด้านนวัตกรรม (Innovation) ตัวอย่างเช่น การอนุญาตให้ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการลงทุนทางเครื่องจักรและเทคโนโลยีทั้งหมดในปีนั้น โดยข้อเสนอเหล่านี้จะช่วยให้เกิดการพัฒนาทางด้านนวัตกรรมกันมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เติบโตอย่างแข็งแกร่ง รวมถึงเพิ่มการจ้างงานภายในประเทศ

- ข้อเสนอในการปฎิรูประบบภาษีให้เป็นระบบภาษีที่ง่ายขึ้น (A simpler tax system) โดยแมคเคนได้เสนอให้เพิ่มทางเลือกในการคิดคำนวนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแก่ประชาชน ซึ่งประชาชนสามารถเลือกได้ว่าจะใช้ระบบภาษีแบบดั้งเดิม หรือใช้ระบบภาษีที่จะถูกนำเสนอขึ้นมาใหม่ โดยระบบภาษีใหม่ที่จะเกิดขึ้นจะเป็นระบบภาษีที่มีความเสมอภาคและไม่ยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งจะมีอัตราภาษีเพียง 2 อัตรา (เปรียบเทียบกับเดิมที่มี 6 อัตรา) แต่ทั้งนี้จะมีการลดหย่อนทางด้านภาษีไม่มากนัก (ตามหลักการของระบบภาษีคงที่ A flat tax system) เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม รวมถึงลดช่องโหว่ทางด้านภาษีนั้นเอง

- ข้อเสนอในการยกเว้นการเก็บภาษีน้ำมันในช่วงฤดูร้อน เพื่อบรรเทาปัญหาราคาน้ำมันแพงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งข้อเสนอนี้ได้รับการวิพากย์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมเป็นอย่างมาก

* "แมคเคนโนมิกส์ (McCainomics): นโยบายภาษี" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 21 พ.ค. 2551

Wednesday, April 9, 2008

ทฤษฎีประชากรล้นโลกของ Malthus และปัญหาสภาวะโลกร้อน*

กว่า 200 ปีก่อน มีนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษท่านหนึ่งได้สร้างทฤษฎีประชากรที่ทำให้คนในยุคสมัยนั้นตื่นตระหนกกับคำทำนายของเขา นักเศรษฐศาสตร์ท่านนั้นมีนามว่า โทมัส โรเบิร์ต มัธทาส (Thomas Robert Malthus) สิ่งที่ Malthus ได้นำเสนอในข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประชากร (An Essay on the Principle of Population, 1798) มีใจความสำคัญดังนี้

อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรบนโลก มีลักษณะที่เพิ่มขึ้นเป็น Geometric ratio หรือเพิ่มเป็นอันดับที่มีตัวคูณร่วม เช่น เพิ่มขึ้นจาก 1, 2, 4, 8, 16, …. ในขณะเดียวกันอัตราการเพิ่มขึ้นของอาหารที่มนุษย์สามารถผลิตได้นั้น กลับมีลักษณะเป็น Arithmetic ratio หรือเพิ่มเป็นอันดับที่มีตัวบวกร่วม เช่น เพิ่มขึ้นจาก 1, 2, 3, 4, 5, …. ซึ่งอัตราการเพิ่มขึ้นที่แตกต่างกันระหว่างจำนวนประชากรกับจำนวนอาหารที่สามารถผลิตได้นั้น ทำให้คนในยุคสมัยนั้นเกิดความกังวลถึงอนาคต ที่อาหารที่ผลิตบนโลกจะไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคของมนุษย์

Malthus ยังได้อธิบายถึงปัจจัยสองประการที่จะคอยป้องกันไม่ให้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงเกินไปนั้น ปัจจัยแรก Malthus เรียกว่า Positive check หรือปัจจัยที่เพิ่มอัตราการตายของประชากรให้สูงขึ้น ได้แก่ ความยากจนค้นแค้นของประชากร สภาวะสงคราม เป็นต้น สำหรับปัจจัยที่สอง Malthus เรียกว่า Negative check หรือปัจจัยที่ลดอัตราการเกิดของประชากร ได้แก่ ประชากรมีการวางแผนครอบครัว รวมถึงมีการคุมกำเนิดเกิดขึ้น หรือแม้นแต่ลักษณะของประชากรที่แต่งงานช้าลง รวมถึงมีลูกน้อยลง ก็เป็นลักษณะของ Negative check นั่นเอง

แม้นว่าทฤษฎีประชากรที่ Malthus นำเสนอนั้น เรายังไม่พบว่าคำทำนายที่ว่าประชากรล้นโลกได้เกิดขึ้นจริง นักวิชาการในบางยุคบางสมัยได้กล่าวถึงทฤษฎีประชากรของ Malthus ว่าเป็นทฤษฎีที่ล้มเหลวที่สุดตั้งแต่เคยมีมา ซึ่งหนึ่งในเหตุผลหลายประการที่ทำให้ทฤษฎีของ Malthus ดังกล่าวล้มเหลว คือ Malthus เองลืมคิดถึงการปฎิรูปเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นนั้น เช่น การมีเทคโนโลยีในการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ช่วยทำให้มนุษย์สามารถผลิตอาหารได้มากขึ้นแม้นว่าจะมีปริมาณทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตเท่าเดิม หรือแม้นแต่จะลดลงก็ตาม

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ ที่มนุษย์ในยุคหลังอาจไม่รู้จัก หรือรู้สึกกังวลใจกับทฤษฎีประชากรล้นโลกของ Malthus แต่มนุษย์กลับกำลังเผชิญกับคำทำนายของทฤษฎีใหม่ที่เกิดขึ้นมากับปัญหาสภาวะโลกร้อน (Global warming) ที่ทำให้มนุษย์กังวลกับคำทำนายทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า ในอนาคตน้ำจะท่วมโลก ทั้งนี้เนื่องจากน้ำแข็งในขั้วโลกละลายอย่างรวดเร็ว จากการที่อุณหภูมิบนโลกนี้เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากการที่แสงแดด ไม่สามารถสะท้อนผ่านกลุ่มก๊าซเรือนกระจกออกจากชั้นบรรยากาศโลกไปได้

เมื่อเราพิจารณาแนวคิดทั้งสองทฤษฎีนี้ ต่างมีความคล้ายคลึงกัน โดยต่างก็เกี่ยวข้องกับการเสียสมดุลย์ทางธรรมชาติบนโลก และมนุษย์ในยุคนั้น ต่างตื่นตระหนกกับคำทำนายของทฤษฎีที่เกิดขึ้น โดย Malthus ได้ทำนายถึงการเสียสมดุลย์ที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของประชากรที่มากกว่าการเพิ่มขึ้นของอาหารบนโลก ในขณะที่ปัญหาสภาวะโลกร้อนเกิดจากการสมดุลย์ทางธรรมชาติเสียไป จากการที่มนุษย์ได้เพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจก (เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์) สู่ชั้นบรรยากาศโลก

ทฤษฎีของ Malthus แม้นว่าคนรุ่นหลังในบางยุคกล่าวว่าเป็นทฤษฎีที่ล้มเหลว เนื่องจากสาเหตุหลายประการที่กล่าวแล้วข้างต้น แต่ในยุคปัจจุบันที่อาหารกำลังมีราคาแพง และดูเหมือนว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุควิกฤติการณ์อาหารขาดแคลน อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่แสดงให้เห็นถึงคำทำนายของ Malthus ว่ากำลังเป็นจริงสำหรับปัญหาสภาวะโลกร้อน ในปัจจุบันเรายังไม่ทราบว่าคำทำนายที่เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เราคงต้องรอเวลาให้ประชากรรุ่นหลังจากเราเป็นผู้หาคำตอบของคำทำนายนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ของมนุษย์โลกคือ เมื่อไหร่ก็ตามที่สมดุลย์ของธรรมชาติเสียไป ธรรมชาติ รวมถึงมนุษย์โลก จะต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว เพื่อเข้าหาสมดุลย์ใหม่ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Positive หรือ Negative checks ก็ตาม ในขณะเดียวกัน วิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีก็ไม่เคยหยุดอยู่นิ่ง มนุษย์ได้เรียนรู้และพัฒนาสิ่งต่างๆใหม่ๆ เพื่อช่วยให้เราอยู่รอดได้จนถึงทุกวันนี้

* "ทฤษฎีประชากรล้นโลกของ Malthus และปัญหาสภาวะโลกร้อน" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 9 เม.ย. 2551

Wednesday, March 12, 2008

จากประเทศแอฟริกาใต้ สู่การเมืองไทย*

เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ร่วมกับคณะเดินทางไปประเทศแอฟริกาใต้เพื่อไปสัมภาษณ์หน่วยงานราชการ รวมถึงภาคธุรกิจต่างๆ เพื่อหาช่องทางการขยายตลาดของผู้ประกอบการ SME ไทย จากการพบปะพูดคุยกับคนแอฟริกาใต้หลายท่าน ทำให้ผมได้เรียนรู้สิ่งต่างๆที่น่าสนใจมากมาย โดยมีหลายเรื่องที่ทำให้ผมอดสะท้อนคิดถึงเมืองไทยไม่ได้ ทั้งนี้ผมขออนุญาตเล่าพอเป็นสังเขปดังนี้

ประเทศแอฟริกาใต้เป็นประเทศที่อยู่ตอนใต้สุดของทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรแร่ทางธรรมชาติที่มีมูลค่ามาก เช่น ทอง เพชร แพลตินัม อยู่เป็นจำนวนมาก ปัจจัยทางธรรมชาติเหล่านี้ มีส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศแอฟริกาใต้มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก นอกจากนั้น การที่ประเทศแอฟริกาใต้เคยตกเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษ ซึ่งในช่วงที่ตกเป็นอาณานิคมนั้น การบริหารประเทศตกอยู่ในน้ำมือของคนผิวขาว ซึ่งต้องยอมรับว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศที่แข็งแกร่งหลายอย่างที่ยังมีในปัจจุบัน เกิดจากการวางรากฐานที่ดีโดยคนผิวขาวที่เข้ามาปกครองในอดีต

การปกครองประเทศที่คนส่วนใหญ่เป็นคนผิวดำจากคนผิวขาวที่เป็นคนกลุ่มน้อย ถูกต่อต้านอย่างรุนแรงและยาวนานจากคนท้องถิ่น หรือเจ้าของประเทศเดิมที่เป็นคนผิวดำ การต่อสู้เรียกร้องเอกราชเป็นไปอย่างยาวนาน จนท้ายที่สุดประเทศก็ได้รับเอกราช นอกจากนี้ผู้นำในการเรียกร้องเอกราชชาวแอฟริกาใต้ ได้รับรางวัลโนเบิลสาขาสันติภาพ มากถึง 4 ท่านด้วยกัน นับตั้งแต่อาจารย์ Albert Lutuli ในปี ค.ศ. 1960 จนถึง อดีตประธานาธิบดี Nelson Mandela ในปี ค.ศ. 1993

ปี ค.ศ. 1994 นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของประเทศ ได้มีการจัดการเลือกตั้งครั้งแรกที่อนุญาตให้มีพรรคการเมืองของคนผิวดำเข้ามาแข่งขัน ผลการเลือกตั้งที่ออกมา พรรค African National Congress (ANC) ภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดี Nelson Mandela ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของคนผิวดำชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ทั้งนี้เป็นเพราะสัดส่วนของประชากรผิวขาวกับผิวดำมีความแตกต่างกันมาก โดยมีเพียงประมาณร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมดที่เป็นคนผิวขาว ดังนั้นโอกาสต่อไปในอนาคตที่พรรคการเมืองของคนผิวขาวจะสามารถกลับมาบริหารประเทศไทยได้อีกครั้ง เรียกได้ว่าแทบจะเป็นศูนย์เลยทีเดียว

การเข้ามาบริหารประเทศของคนผิวดำ ดำเนินนโยบายชัดเจนที่จะสนับสนุนและผลักดันให้คนผิวดำเข้ามามีอำนาจในหน่วยงานต่างๆของภาครัฐมากขึ้น โดยเฉพาะตำแหน่งระดับสูงของประเทศ เช่น ตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี รวมถึงตำแหน่งในระดับสูงของหน่วยงานราชการต่างๆ

ตัวผมเอง จากการที่เข้าไปติดต่อพูดคุยกับหน่วยงานต่างๆ หลายหน่วยงานของแอฟริกาใต้พบว่า ปัจจุบันผู้บริหารในหน่วยงานต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นคนผิวดำ โดยอาจมีคนผิวขาวอยู่บ้าง แต่เป็นจำนวนน้อยมากและส่วนใหญ่เป็นระดับอาวุโสที่ใกล้จะเกษียณอายุกันหมดแล้ว ซึ่งภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ผู้บริหารประเทศเกือบทั้งหมดคงจะมีแต่เพียงคนผิวสีดำเท่านั้น

ปัญหาสำคัญที่ประเทศแอฟริกาใต้กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ (นอกเหนือจากปัญหาโรคเอดส์) คือความแตกต่างทางด้านการศึกษาระหว่างกลุ่มคนผิวขาวและคนผิวดำ ปัญหานี้ถูกสะสมมานานมานับตั้งแต่อดีต โดยในช่วงที่คนผิวขาวปกครองประเทศที่มีการแบ่งแยกสีผิวอย่างชัดเจน คนผิวดำส่วนใหญ่ไม่ได้รับโอกาสในการศึกษาที่ดี เฉกเช่นเดียวกับคนผิวขาว ดังนั้นเมื่อวันที่พรรคการเมืองของคนผิวดำชนะการเลือกตั้งเข้ามา ทรัพยากรบุคคลในส่วนของคนผิวดำที่มีความรู้และความสามารถที่ดีเพื่อเข้ามาบริหารประเทศจึงมีค่อนข้างจำกัด

ดังนั้นคนผิวดำที่เข้ามาปกครองประเทศในขณะนี้ หลายๆ คน จึงไม่มีความรู้หรือความสามารถในการบริหารประเทศอย่างแท้จริง บุคคลเหล่านี้ได้รับโอกาสเข้ามาบริหารประเทศที่มีความเจริญมั่นคั่งสะสมมาจากอดีต หากเปรียบเป็นสำนวนไทย คงไม่แคล้วกับสำนวนไทยที่ว่า “สามล้อถูกหวย”

ตัวอย่างเช่น รัฐมนตรีสาธารณสุขของแอฟริกาใต้ในปัจจุบันคือ ดร. Manto Tshabalala-Msimang ซึ่งนับว่ามีบทบาทสูงในประเทศแอฟริกาใต้ที่มีปัญหาโรคเอดส์อย่างรุนแรง โดนมีประชาชนเกิน 5 ล้านคนมีเชื้อ HIVs อยู่ในปัจจุบัน ดร. Manto เคยออกมาพูดว่า โรคเอดส์สามารถรักษาให้หายได้ โดยการใช้กระเทียม มะนาว และบีทรู้ท (Beetroot) ในการรักษา เช่นเดียวกัน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของแอฟริการใต้คือ Thabo Mbeki ก็เคยถูกโจมตีอย่างหนังในช่วงปี ค.ศ. 2001 ที่ออกมาพูดว่าปัญหาโรคเอดส์ไม่ได้เกิดจากเชื้อ HIVs แต่เกิดจากความยากจน ดังนั้นหากแก้ปัญหาความยากจนได้ ปัญหาโรคเอดส์ก็จะหมดไป
ความคิดเหล่านี้ได้แสดงถึงความรู้ และความใจปัญหาของผู้นำประเทศ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่า เมื่อคนระดับผู้นำประเทศมีความคิดอย่างนี้ได้ คนแอฟริกาใต้จำนวนมากจึงไม่ได้เกรงกลัวหรือตระหนักถึงปัญหาโรคเอดส์ที่เกิดขึ้นเท่าที่ควร ทั้งที่ในปัจจุบันได้คร่าชีวิตคนแอฟริกาใต้เกือบวันละ 1,000 คน

สำหรับในปีหน้าที่จะมาถึง จะเป็นปีที่มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่เกิดขึ้นที่แอฟริกาใต้ ซึ่งไม่น่าแปลกใจ หากผู้นำพรรค African National Congress (ANC) ในปัจจุบันคือ นาย Jacob Zuma จะถูกคาดหมายให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจาก ประธานาธิบดี Thabo Mbeki ที่ใกล้จะครบวาระ แต่ทั้งนี้นาย Jacob Zuma เอง ก็มีปัญหาติดตัวมาหลายเรื่องที่ในปัจจุบันอยู่ในชั้นการฟ้องร้อง ดำเนินคดีในศาล เช่น
นาย Jacob Zuma เคยถูกกล่าวและฟ้องร้องว่า ได้ข่มขืนเพื่อนของครอบครัว (ต่อมาภายหลัง คดีได้ถูกยกฟ้อง) ซึ่งนาย Jacob ได้กล่าวในศาลว่า ตนเคยมีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้ที่ติดเชื้อ AIDs แต่ไม่ได้มีการป้องกันแต่อย่างใด โดยเขาเชื่อว่า การอาบน้ำก็สามารถป้องกันโรคเอดส์ได้แล้ว นอกจากนี้ นาย Jacob ก็กำลังโดนฟ้องร้องในเรื่องของการรับสินบน และปัญหาการคอร์รับชั่น ดังนั้นในปีหน้า เมื่อนาย Jacob ได้รับการรับเลือกเป็นประธานาธิบดี ก็จะเป็นประธานาธิบดีผู้ที่มีข้อครหาเรื่องคอร์รับชั่นติดตัวมาด้วย

หากลองเปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศแอฟริกาใต้และในประเทศไทยในเวลานี้ แม้นว่าทั้งสองประเทศจะอยู่ไกลกันคนละทวีปของโลก แต่กลับมีหลายเรื่องที่คล้ายๆ กันอยู่จนน่าประหลาดใจ เช่น พรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศ ได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้น จากกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ยังมีปัญหาความยากจนและปัญหาการศึกษาอยู่ หรือ กลุ่มคนที่เข้ามาบริหารประเทศในปัจจุบัน หลายคนๆ ขาดความรู้ หรือประสบการณ์ในหน้าที่การบริหารงานในเรื่องเหล่านั้นจริง หรือ การมีผู้นำประเทศที่มาพร้อมข้อกล่าวหาติดตัวมาด้วย โดยเฉพาะในเรื่องปัญหาคอร์รับชั่น

* "จากประเทศแอฟริกาใต้ สู่การเมืองไทย" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 12 มี.ค. 2551