Wednesday, October 15, 2008

ปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินโลก กับการใช้นโยบายทางการเงินที่ถูกต้อง*

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้เขียนทิ้งท้ายว่า ด้วยแนวคิดของนาย เบน เบอร์นันเก ที่ให้ความสำคัญอย่างมากต่อการใช้นโยบายการเงินในการแก้ไขปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินโลก เราคงไม่แปลกใจที่จะเห็นประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ผู้นี้ จะใช้นโยบายทางการเงินอย่างรวดเร็ว ในการเข้าไปแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ลุกลามและขยายตัวรุนแรงจนเกิด The Great Depression ครั้งที่ 2

ในวันที่ 9 ตุลาคม ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.5% จาก 2% มาเป็น 1.5% ซึ่งยืนยันให้เห็นถึงการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนปรน (โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบสถาบันการเงิน เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ ซึ่งแน่นอนครับ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงของธนาคารกลางสหรัฐฯในสัปดาห์ที่ผ่านมา คงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่เราจะเห็นในปีนี้ ได้มีการคาดการณ์ว่า หากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจยังไม่สามารถคลี่คลายไปได้ในเร็ววัน ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจตัดสินใจดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก จนมาเหลือ 0% ก็เป็นได้

นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังได้ตัดสินใจเข้าซื้อตราสารหนี้ระยะสั้นที่ออกโดยภาคเอกชนในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งนับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิด The Great Depression ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้เข้าแทรกแซงในตลาดตราสารหนี้ของภาคเอกชนโดยตรง เพื่อเร่งอัดฉีดสภาพคล่องและเพิ่มความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ในขณะเดียวกัน ธนาคารกลางสหภาพยุโรป ธนาคารกลางอังกฤษ และธนาคารกลางประเทศต่างๆ ทั่วโลก ต่างแสดงอย่างชัดเจนที่ใช้นโยบายทางการเงิน ในการแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์ที่ได้ลุกลามไปยังประเทศต่างๆ ซึ่งย่อมแสดงให้เราเห็นถึงสภาพความร้ายแรงของปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินโลกที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน

แม้นว่านโยบายทางการเงินจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ที่จะช่วยโลกให้ผ่านพ้นวิกฤติการณ์ครั้งนี้ไปได้ แต่การใช้นโยบายทางการเงินให้ถูกต้องและเหมาะสมนั้น คงไม่ใช่เรื่องง่าย และยิ่งไปกว่านั้น ผลของมาตรการทางการเงิน ที่ผ่านกลไกของอัตราดอกเบี้ยนั้น อาจมีความล่าช้าและต้องใช้เวลานานนับปีกว่าที่จะเห็นผลได้

บ่อยครั้ง การใช้นโยบายทางการเงินอย่างรุนแรงจนเกินไป กลับส่งผลร้ายต่อระบบเศรษฐกิจและนำพาประเทศไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น การใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนปรน (ปรับลดอัตราดอกเบี้ย) ที่มากเกินความจำเป็น โดยมุ่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้น อาจนำไปสู่การเกิดปัญหาเงินเฟ้อที่รุนแรงในระยะยาว ดังที่เคยเกิดขึ้นกับสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 1968 หรือ แม้นแต่การใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด (ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย) เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ อาจนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง ดังที่เกิดขึ้นกับสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 1974

คงไม่ใช่เรื่องง่ายครับ ที่ผู้กำหนดนโยบายทางการเงิน หรือ ธนาคารกลางในประเทศต่างๆ จะสามารถใช้นโยบายทางการเงินได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งแม้นแต่ Milton Friedman ผู้นำกลุ่มเศรษฐศาสตร์สำนักการเงิน ยังเคยเสนอให้ยกเลิกอำนาจในการตัดสินใจกำหนดนโยบายทางการเงิน โดยผู้มีอำนาจในธนาคารกลางสหรัฐฯ และเสนอให้นำระบบกลไกควบคุมอัตโนมัติ (Automatic Stabilizer) โดยผ่านกลไกของอัตราดอกเบี้ย มาใช้ในการกำหนดปริมาณในระบบที่เหมาะสม เพื่อมิให้ผู้กำหนดนโยบายตัดสินใจผิดพลาด และใช้นโยบายที่รุนแรงจน หรือ ผิดช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่ทั้งนี้ ความคิดดังกล่าวของ Milton Friedman ยังคงไม่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน นโยบายทางการเงินทั่วโลกส่วนใหญ่ ยังถูกกำหนดโดยผู้มีอำนาจในธนาคารกลางของประเทศต่างๆ

ปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินโลกที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ประเทศต่างๆ ทั่วโลก พยายามดิ้นรน ต่อสู้ทุกหนทางด้วยมาตรการต่างๆ ที่รุนแรง (ซึ่งอาจนำโลกไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อได้ในระยะยาว) การเตรียมประเทศให้พร้อม รวมถึงการดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างถูกต้องมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ที่จะช่วยให้ประเทศไทยผ่านพ้นจากวิกฤติการณ์ครั้งนี้ไปได้ เพราะประเทศไทยเปรียบเสมือนดั่งลำคลองเล็กๆ สายหนึ่ง ที่แม้นจะเคยได้รับการขุดลอกมาเป็นอย่างดี (ในช่วงที่เกิดวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้ง) แต่เมื่อลำคลองสายนี้ยังคงต้องเชื่อมต่อกับแม่น้ำสายหลัก (เศรษฐกิจโลก) อยู่ หากแม่น้ำสายหลักเกิดปัญหาน้ำหลากจนท่วมล้นอย่างรุนแรง ลำคลองสายเล็กๆ อย่างประเทศไทยจะสามารถรอดพ้นไปได้อย่างไร หากปราศจากการเตรียมพร้อมที่เหมาะสมและถูกต้อง

* "ปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินโลก กับการใช้นโยบายทางการเงินที่ถูกต้อง" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 15 ต.ค. 2551

No comments:

Post a Comment