Thursday, November 8, 2007

พิธีสารเกียวโตกับการแก้ปัญหาโลกร้อน*

สัปดาห์นี้นับเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกันแล้ว ที่คณะผู้เขียนได้นำเสนอเรื่องสภาวะโลกร้อนอย่างต่อเนื่อง แม้นว่าในปัจจุบัน เรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ฤดูหนาว หรือช่วงปลายฝนต้นหนาว จนทำให้เราอาจลืมนึกถึงความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาไปบ้างก็ตาม แต่คงอีกไม่นานเกินรอ อากาศร้อนคงกลับมาให้เราหายคิดถึงอย่างแน่นอน

บทความในสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มก๊าซเรือนกระจกกับความร้อนที่เกิดขึ้น โดยกลุ่มก๊าซเรือนกระจกอย่างเช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำหน้าที่ห่อหุ้มความร้อน ไม่ให้ความร้อนสะท้อนออกไปจากโลกได้ทั้งหมด ดังนั้นหากปริมาณก๊าซเรือนกระจกสะสมบนชั้นบรรยากาศโลกเพิ่มมากขึ้น ความร้อนบนโลกก็จะเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

ผู้อ่านหลายท่านอาจสงสัยว่า ทำไมปัญหาโลกร้อนถึงเป็นปัญหาที่โลกกำลังเผชิญในช่วงทศวรรษหลังนี้ แต่ทำไมก่อนหน้านี้เป็นร้อยๆปี ปัญหาโลกร้อนจึงไม่เกิดขึ้นอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ คำตอบของปัญหานี้คงไม่ยาก หากพิจารณาถึงแผนภาพแสดงปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมาในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกปล่อยออกมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 5 ทศวรรษหลัง ซึ่งปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมานั้น เกิดขึ้นสูงสุดจากการใช้พลังงานปิโตรเลียม ได้แก่น้ำมันดิบ โดยทั้งนี้ทั้ง น้ำมันดิบ ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ล้วนแล้วต่างเป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่ใช้ในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจต่างๆของโลก เช่น ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ให้เติบโตขึ้น การเผาพลาญทรัพยากรพลังงานเชื้อเพลิงเหล่านี้ต่างก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกบนพื้นผิวโลกนั่นเอง

สิ่งที่น่าสนใจคือ ประเทศที่เป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากที่สุดในโลกไม่ใช่ใครอื่น แต่กลับกลายเป็นประเทศพี่ใหญ่ของโลก นั่นคือประเทศสหรัฐอเมริกา และคานาดา รองลงมาได้แก่กลุ่มประเทศยุโรป และกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกอย่างเช่น จีน สำหรับประเทศอินเดีย และกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รวมถึงไทย) ก็มีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกันกับประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆ

จริงๆแล้วประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด ได้มีการประชุมเพื่อหารือในการกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในความตกลงร่วมกันที่เป็นรูปธรรม คือ พิธีสารเกียวโต (Kyoto protocol) ที่เปิดให้ลงนามนับตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2540 โดยเกิดจากการเจรจาร่วมกันที่เมือง Kyoto ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งพิธีสารดังกล่าวมีบทบัญญัติให้เริ่มมีผลบังคับใช้ภายใน 90 วัน หลังจากมีประเทศร่วมให้สัตยาบันรับรองอย่างน้อย 55 ประเทศ ซึ่งจะต้องมีประเทศที่พัฒนาแล้วที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมารวมกันอย่างน้อยร้อยละ 55 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นบนโลก
ปัจจุบันได้มีประเทศต่างๆกว่า 175 ประเทศได้ลงนามให้สัตยาบันรับรองพิธีสารดังกล่าว และได้เริ่มมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2548 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ในพิธีสารได้กำหนดให้ประเทศที่พัฒนาแล้ว 36 ประเทศ ในช่วงระหว่างปี 2551 ถึง 2555 จะต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลงอย่างน้อยร้อยละ 5 ของปริมาณก๊าซที่ถูกปล่อยรวมทั้งสิ้นในปี 2533

แต่ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเทศพี่ใหญ่ของโลกอย่างประเทศสหรัฐอเมริกากลับแสดงความตั้งใจที่จะเพิกเฉยกต่อข้อตกลงร่วมดังกล่าว ทั้งที่สหรัฐอเมริกาเองเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับหนึ่งของโลก หากปราศจากความร่วมมือของประเทศสหรัฐอเมริกาที่จะลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างจริงจังแล้ว คงเป็นการยากที่เป้าหมายที่กำหนดดังกล่าวที่จะบรรเทาปัญหาโลกร้อน จะสำเร็จลุล่วงไปได้อย่างที่คาดหวังไว้

สำหรับในบทความถัดไป ผู้เขียนจะนำเสนอนโยบายสาธารณะ (Public policies) ต่างๆ ที่นักเศรษฐศาสตร์นำเสนอเพื่อใช้เป็นเครื่องมือนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมา เพื่อแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น อย่าลืมติดตามครับ

* "พิธีสารเกียวโตกับการแก้ปัญหาโลกร้อน" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 8 พ.ย. 2550

No comments:

Post a Comment